กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ ส.อ.ท จัดตั้ง 5 คณะทำงานตามมติที่ประชุมร่วมกันครั้งแรกเสร็จแล้ว เตรียมนำไปหารือรายละเอียดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรอบสองในวันที่ 18 ส.ค.นี้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมหารือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 ซึ่งถือเป็นครั้งที่สอง โดย ส.อ.ท.จะเป็นเจ้าภาพ โดยล่าสุดตามมติการประชุมครั้งแรกได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันครบ 5 ชุดแล้ว ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม มีตนเป็นประธาน และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.เป็นประธานร่วม มีอำนาจหน้าที่สำคัญคือการกำหนดนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ผลักดันและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานร่วมอีก 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานปรับปรุงการออกใบอนุญาตของกระทรวงอุตสาหกรรม มีนายหทัย อู่ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และนายเจน นำชัยศิริ ผู้แทนจาก ส.อ.ท. เป็นประธานร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่คือศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการออกใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและขยะอุตสาหกรรม มีนายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธาน และนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้แทนจาก ส.อ.ท.เป็นประธานร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่คือศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และขยะอุตสาหกรรม
คณะทำงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม มีนางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน และนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ผู้แทนจาก ส.อ.ท. เป็นประธานร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่คือการศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และคณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และนายนิกร สุศิริวัฒนนนท์ จาก ส.อ.ท.เป็นประธานร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่คือศึกษา วิเคราะห์ ปรับปรุง และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
“แต่นี้ไปกระทรวงอุตสาหกรรมกับ ส.อ.ท.จะทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเรามีกำหนดประชุมหารือร่วมกันทุกเดือน เพื่อให้การประสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ คสช.ที่เน้นการบูรณาการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ” นายวิฑูรย์กล่าว