xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าท่า” ชะลอเรือด่วนขึ้นราคาชี้เวลาไม่เหมาะ ต่อรองต้องปรับปรุงยกระดับท่าเรือก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.)
เจ้าท่าเบรกเรือด่วนขึ้นราคา “จุฬา” เล็งต่อรองให้ปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนแลกเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มค่าด้วย นัดผู้ประกอบการเรือด่วน 7 ส.ค.นี้หารือแผนยกเครื่องท่าเรือให้เหมือนสถานี บขส. ในปี 58 เตรียมงบ 70 ล้านบาทนำร่อง 5 แห่ง หวังจูงใจเปลี่ยนโหมดใช้ขนส่งทางน้ำเดินทางเข้าเมืองแทนรถตู้

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยาเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นค่าโดยสาร แม้ว่าทางคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าโดยสารเรือประจำทางได้พิจารณาแล้วเห็นว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารอย่างน้อยระยะละ 1 บาท จากที่เสนอขอปรับขึ้นระยะละ 2 บาท แต่คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ยังไม่พิจารณาให้ ซึ่งเห็นว่าก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ปรับปรุงบริการ พร้อมทั้งเจรจาเรื่องการปรับปรุงยกระดับท่าเรือต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้นก่อน เพื่อให้การปรับค่าโดยสารเกิดความคุ้มค่าแก่ประชาชนมากที่สุด

ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่ามีแผนที่จะปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร เช่น ที่นั่งรอ ช่องจำหน่ายตั๋ว ในลักษณะเดียวกับสถานีรถ บขส. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งทางน้ำเดินทางแทนรถยนต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ย่านนนทบุรี ปากเกร็ด ซึ่งเมืองมีการเติบโตมาก อีกทั้งมีโครงการรถไฟฟ้าหลายสาย ทั้งสีแดง สีม่วง สีชมพู หากสามารถเชื่อมโยงการเดินทางเรือกับรถไฟฟ้าได้จะทำให้ลดเวลาในการเดินทางได้ ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งพารถตู้โดยสารเป็นหลัก โดยเรือด่วนจากปากเกร็ดมาถึงย่านสาทร สีลมจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที

“ปัจจุบันมีผู้โดยสารเรือด่วนประมาณ 5 หมื่นคน/วันเท่านั้น หากมีบริการที่ดี สิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน จะเพิ่มผู้ใช้บริการหน้าใหม่ๆ ที่เคยใช้รถตู้เข้าเมืองก็ได้เปลี่ยนมาใช้เรือแทน ซึ่งกรมเจ้าท่ามีแผนปรับปรุงท่าเรือและได้รับงบประมาณในปี 58 จำนวน 70 ล้านบาทแล้ว พร้อมดำเนินการปรับปรุง โดยจะหารือกับผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยาในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ก่อนว่าจะมีความร่วมมือกันอย่างไรบ้าง โดยจะกำหนดท่าเรือนำร่อง 5 แห่งขึ้นมาดำเนินการ คาดว่าจะใช้งบปรับปรุงแห่งละกว่า 10 ล้านบาท พื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร โดยหากพื้นที่ใดที่เป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเจรจาเพื่อขอใช้พื้นที่โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการเอง ส่วนที่ใดเป็นของเอกชนอาจจะให้ทางผู้ประกอบการเรือด่วนเข้าไปดำเนินการปรับปรุงได้” นายจุฬากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณปี 2558 กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรที่ 4,100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานขุดลอกร่องน้ำและเขื่อนป้องกันตลิ่งและป้องกันน้ำท่วมในภาคกลางในลุ่มน้ำป่าสัก
กำลังโหลดความคิดเห็น