“พาณิชย์” เตรียมยกเครื่องกฎหมายการแข่งขันทางการค้าทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน เผยเตรียมแก้คำนิยามให้ครอบคลุมธุรกิจในเครือ บังคับรวมถึงรัฐวิสาหกิจ ป้องกันได้เปรียบธุรกิจเอกชนอื่น พร้อมปรับโครงสร้างบอร์ดใหม่
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดจะแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อให้เหมาะสมกับการบังคับใช้ในสภาพธุรกิจปัจจุบัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพื่อนำเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ เพื่อออกเป็นข้อกฎหมายและให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญที่จะปรับปรุง เช่น การแก้ไขคำนิยามของธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ โดยต้องนำมารวมเป็นส่วนแบ่งทางการค้ากับบริษัทแม่ด้วยเพราะถือว่าเป็นธุรกิจเดียวกัน หากรวมแล้วมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ก็จะเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 25 จากเดิมที่กฎหมายยังไม่ได้กำหนดให้นำบริษัทในเครือมารวม รวมถึงต้องกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มุ่งหวังทำกำไร และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายฉบับนี้ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยอิสระ เช่น ขายต่ำกว่าทุน เพื่อหวังกำไร ซึ่งทำให้ธุรกิจเอกชนอื่นได้รับผลกระทบ
ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะแก้ไขให้มีจำนวนที่เหมาะสมจากปัจจุบันที่มีจำนวนสูงถึง 16 คน มาจากเอกชนและตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงนักวิชาการ โดยควรกำหนดว่าควรมีแต่เฉพาะนักวิชาการหรือหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียว หรือยังคงมีภาคเอกชนไว้ต่อไป รวมทั้งควรกำหนดให้กรรมการในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิต้องทำงานเต็มเวลา โดยให้มีเงินเดือนและผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ทางด้านบทลงโทษ พบว่าทุกฐานความผิดมีบทลงโทษเดียวกันคือ จำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละฐานความผิดไม่เท่ากัน เช่น การทำการค้าไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องขัดแย้งของบุคคล 2 คน ควรกำหนดให้เป็นโทษปรับเท่านั้น ขณะที่โทษของการผูกขาดและจำกัดการแข่งขัน ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้าง ควรมีฐานความผิดที่สูง และควรให้มีระบบลดหย่อนโทษแลกกับการให้ข้อมูลแก่กรรมการเพื่อให้การพิจารณาดำเนินคดีง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากปัจจุบันที่หลายคดีไม่คืบหน้า เพราะผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือ