“ชุติมา” ปลัดพาณิชย์คนใหม่ เดินหน้าผลักดันองค์กรให้กลับมาเป็นมืออาชีพ บริหารงานด้วยความโปร่งใส พร้อมเร่งงานลดค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความปรองดอง มั่นใจผลักดันข้าวไทยให้กลับมามีชื่อเสียงได้เหมือนเดิม
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังให้ข้าราชการเข้าร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งว่า ขอขอบคุณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้โอกาสเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ภายใต้การบริหารงานของตนเป็นไปด้วยความโปร่งใส และกลับมามีศักดิ์ศรีเหมือนเดิม
โดยแนวทางในการทำงาน จะเร่งรัดเรื่องเร่งด่วนตามนโยบาย คสช. ประกอบด้วย การเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การสร้างความปรองดอง และการผลักดันให้ข้าราชการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะเร่งแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำการค้า การลงทุนของภาคเอกชน โดยจะมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้หมดไป เพื่อสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
น.ส.ชุติมากล่าวว่า การบริหารจัดการสินค้าข้าว ขณะนี้ คสช.ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นประธาน ซึ่งได้มีนโยบายในการกำกับดูแลสินค้าข้าวออกมาแล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าจากนี้ไปจะสามารถผลักดันให้ชื่อเสียงของข้าวไทยกลับคืนมา และเป็นที่ต้องการของโลกเหมือนเดิม โดยขณะนี้ เริ่มมีผู้ที่แสดงความสนใจซื้อข้าวไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดูแลราคาข้าว นบข. ได้มีมาตรการออกมาแล้ว ทั้งการช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร การใช้มาตรการเสริมในการดึงราคา เช่น การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การซื้อเก็บเข้ายุ้งฉาง เป็นต้น แต่หากต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลราคาข้าวเพิ่มขึ้น ก็จะมีมาตรการเสริมเพิ่มเข้ามาอีก โดยจะแทรกแซงเท่าที่จำเป็น ส่วนการระบายข้าวในสต๊อก เป็นเรื่องในระดับนโยบายที่จะกำหนดออกมา แต่ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบสต๊อกให้เสร็จก่อนว่ามีข้าวอยู่เท่าไร เป็นข้าวดีข้าวเสื่อมมากน้อยแค่ไหน
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกต่อเนื่องทั้งตลาดเก่า ตลาดใหม่ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย 3.5% และยังคงให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อไป ทั้งการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ส่วนการที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) จะไม่ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยได้มีการปรับตัวในเรื่องนี้ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว