“สร้อยทิพย์” สั่ง “ประภัสร์” รายงานข้อเท็จจริงเหตุฆาตกรรมเด็กหญิง 13 ปี บนรถไฟสายใต้ ก่อนตั้งกรรมการสอบฯ ยันต้องมีผู้รับผิดชอบ และรื้อระบบความปลอดภัยใหม่ เรียกความเชื่อมั่น ยอมรับที่ผ่านมาละเลยมาตรการความปลอดภัย เหตุมุ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากไป
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์เด็กหญิงอายุ 13 ปีถูกฆาตกรรมบนขบวนรถไฟที่ 174 สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็นลูกจ้างประจำของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ให้ดำเนินการ 3 เรื่อง และรายงานต่อที่ประชุมมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง วันที่ 9 กรกฏาคมนี้ คือ 1. รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและการดำเนินการของ ร.ฟ.ท.เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดหรือผู้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว 2. ขอทราบมาตรการที่ดำเนินการรักษาความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารในปัจจุบันของ ร.ฟ.ท.โดยละเอียด และการดำเนินการกวดขันและตรวจสอบ มิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้โดยสารมีสิ่งเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครอบครอง ตลอดจนการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟทุกแห่ง 3. ขอทราบมาตรการและการดำเนินงานตลอดจนการทำหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจรถไฟในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองรักษาชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจความปลอดภัยในการเดินทางโดยรถไฟ จึงต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของทุกคน ทั้งพนักงานรถไฟบนขบวนรถ และตำรวจรถไฟว่ามีความเข้มข้นแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น จุดตัดทางรถไฟ เครื่องกั้นทางรถไฟกับถนน จนละเลยเรื่องมาตรการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยผู้โดยสารระหว่างการเดินขบวนรถ
นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะต้องสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน ส่วนกระทรวงคมนาคมจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ก่อนออกขบวนรถให้บริการ ร.ฟ.ท.มีมาตรการต่างๆ ในดำเนินการด้านความปลอดภัยอยู่แล้ว คือ ต้องตรวจความพร้อมตัวรถ เครื่องมือ พนักงาน เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้ทำตามระเบียบที่มีหรือไม่ และที่สำคัญต่อจากนี้จะมีการเข้มงวดการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟ โดยจะมีการบังคับออกกฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อเรียกความมั่นใจในการให้บริการของ ร.ฟ.ท ส่วนหนึ่งด้วย รวมถึงต้องคิดมาตรการเพิ่มเติมด้วย เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดในขบวนรถหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ก่อเหตุเพิ่งได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างประจำเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวสัญญาจ้างเดือนต่อเดือนมาเป็นเวลา 4-5 เดือน โดยข่าวก่อนหน้านี้สับสนว่าเป็นพนักงานบริษัทเอาต์ซอร์ส ที่เนื่องจากกรณีนี้มีผู้ต้องสงสัยรวม 5 คน เป็นลูกจ้างประจำของ ร.ฟ.ท. 3 คน พนักงานห้ามล้อ 1 คน และพนักงานบริษัท เอาต์ซอร์สอีก 1 คน ส่วนเรื่องการคัดกรองพนักงานหรือลูกจ้างของ ร.ฟ.ท.ยอมรับว่ายังมีความหละหลวม โดยเฉพาะการสืบประวัติอาชญากรรม ซึ่งเรื่องการคัดสรรคนเข้ามาทำงานในส่วนราชการก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาตั้งต้นรื้อระบบกันใหม่อย่างจริงจัง