xs
xsm
sm
md
lg

บพ.ร่วมพัฒนาสนามบิน สปป.ลาว ดันไทยฮับเชื่อมแหล่งมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.)
บพ.ชูศักยภาพเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาสนามบิน สปป.ลาว ดึงสายการบินทั่วโลกใช้ไทยเป็นฮับในการต่อเชื่อมเส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยวมรดาโลก สปป.สาว-กัมพูชา-เวียดนาม เผย 6 สนามบินภูมิภาคมีกำไร ที่เหลือแนวโน้มดีหลังเปิด AEC เชื่อโตตามโลว์คอสต์

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า บพ.มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ซึ่งจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยที่ผ่านมา ทบพ.ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว ในการพัฒนาสนามบินวัดไตและสนามบินปากเซ ตามแนวทาวการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป.ลาว 3 โครงการ โดยการปรับปรุงสนามบินระหว่างประเทศวัดไต เวียงจันทน์ วงเงิน 320 ล้านบาท เสร็จแล้ว, การปรับปรุงสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก ระยะที่ 1 วงเงิน 320 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว ปัจจุบันดำเนินการในระยะที่ 2 วงเงิน 184 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างเพิ่มเติมและจัดซื้ออุปกรณ์การบินจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคม 2557 นี้ ซึ่งจะทำให้สนามบินปากเซมีมาตรฐานตามที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด โดยสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ เช่น โบอิ้ง 737

ปัจจุบันมีสายการบิน การบินลาว ทำการบินวันละ 1 เที่ยว เส้นทางปากเซ-สะหวันนะเขต-กรุงเทพฯ มีผู้โดยสารเฉลี่ย 159 คนต่อวัน ส่วนช่วง High Season จะมีเส้นทางเพิ่มอีก เช่น เวียงจันทน์-ปากเซ-เสียมราฐ (กัมพูชา), เวียงจันทน์-ปากเซ-ฮานอย (เวียดนาม) ซึ่งทราบว่าทางสายการบินแอร์เอเชียสนใจที่จะเปิดทำการบินไปยังสนามบินปากเซเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับแหล่งมรดกโลก โดยสนามบินภูมิภาคของไทยเป็นสนามบินคู่กับทาง สปป.ลาวและจะช่วยเสริมศักยภาพร่วมกัน เช่น สนามบินอุดรธานี-สนามบินวัดไต, สนามบินน่าน-สนามบินหลวงพระบาง, สนามบินอุบลราชธานี-สนามบินปากเซ

โดยสนามบินภูมิภาคของ บพ. 28 แห่งมีการเติบโตตามการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) โดยในปี 2556 มีสนามบิน 6 แห่งที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย ประกอบด้วย กระบี่, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, นครศรีธรรมราช, อุบลราชธานี, ขอนแก่น โดยมีรายได้รวม 434.10 ล้านบาท มีรายจ่าย 181.91 ล้านบาท มีกำไรรวม 252.18 ล้านบาท ส่วนที่เหลือยังขาดทุนแต่เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น สนามบินน่าน แม่สอด

ด้านนายนิสิต สมบัติ ผู้อำนวยการสนามบินอุบลราชธานี กล่าวว่า ศักยภาพของสนามบินอุบลฯ มีความพร้อมทั้งรันเวย์ ลานจอด หอการบิน และอาคารผู้โดยสาร โดยจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1 แสนคน ปี 56 มีผู้โดยสาร 836,238 คน ส่วนปี 57 ณ เดือนเมษายนมีผู้โดยสาร 332,737 คน มี 3 สายการบินให้บริการ คือ นกแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยสมายล์ ให้บริการครอบคลุม 5 จังหวัดข้างเคียง คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร โดยในปี 58 เสนอของบ 40 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงอาคารผู้โดยสารที่ใช้งานมานาน ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ถึง 500 คนต่อชั่วโมง และมีสายการบินไลอ้อนแอร์ให้ความสนใจเปิดทำการบินดอนเมือง-อุบลฯ และอีกสายการบินเป็นเช่าเหมาลำจากฮ่องกง-อุบลฯ


สนามบินปากเซ แขวงจำปาศ้กดิ์ สปป.ลาว อยู่ระหว่างปรับปรุงภายใต้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยมีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ช่วยเหลือในด้านการปรับปรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น