จับมือ ททท.ผลักดันแนวคิด “Creative Convergence Education” พัฒนาวิชาการเรียนการสอนแบบใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาก่อนก้าวสู่ชีวิตการทำงานจริง ผุด “โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) นำนักศึกษา 6 คณะร่วมแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” ระดมความคิดกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ผศ.ดร.อรรยา สิงห์สงบ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันแนวคิด “Creative Convergence Education” ซึ่งถือเป็นการพัฒนาวิชาการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ปลดล็อกกรอบการเรียนรู้จากข้อจำกัดเดิมๆ มาเป็นการคิดอย่างแตกต่างรอบด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่กำลังจะก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันในอนาคต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา พัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจในหลายมิติทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ด้วยการผนวกความรู้ในเชิงวิชาการเข้ากับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำมาต่อยอดกลายเป็นผลงานที่ใหม่ สด แตกต่าง เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ
“โครงการบียู สตาร์ทอัพ” (BU STARTUP PROJECT) จะนำนักศึกษาจาก 6 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มาเรียนรู้การทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนหลักวิชาการและความคิดเพื่อเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อนของกันและกัน ต่อยอดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่น เปี่ยมประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้จริง
ททท.ได้มอบโจทย์ให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการบริหารจัดการแคมเปญ “หลงรักประเทศไทย” รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวเมืองไทยอย่างเข้าถึง เข้าใจ และหลงรักแหล่งท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนไทยที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความสำคัญในการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต” โดยนักศึกษาจะต้องนำความรู้จาก 6 คณะมาหลอมรวมกัน ตามแนวคิด “Creative Convergence Education” เพื่อคิดค้นไอเดียสดใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ของแคมเปญหลัก “หลงรักประเทศไทย” ให้ประสบความสำเร็จ
“BU STARTUP จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ททท. ที่แสดงถึงความตั้งใจพัฒนาการเรียนการสอนนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ หลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ที่ยึดติดอยู่กับความรู้เฉพาะตนเองเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มาจากต่างคณะ ต่างพื้นฐาน ต่างองค์ความรู้ ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทำลายกรอบความคิดตัวเอง พร้อมเปิดรับความคิดต่างอย่างสร้างสรรค์จากเพื่อนนักศึกษาต่างคณะอย่างที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นตั้งใจของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์และก้าวไปสู่สังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง” ผศ.ดร.อรรยากล่าวในตอนท้าย