xs
xsm
sm
md
lg

“กุ้งเหยียด” ภูมิปัญญาความอร่อยแห่งบ้านสาขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กุ้งเหยียดอาหารขึ้นชื่อแห่งบ้านสาขลา
เป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่าว่า กุ้งตามธรรมชาตินั้นตัวงอ แต่ที่บ้านสาขลา เมืองปากน้ำ สามารถนำกุ้งมาเหยียดให้ตรงและทำเป็นอาหารอร่อยในชื่อ “กุ้งเหยียด” ซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

กุ้งเหยียด เป็นภูมิปัญญาของชาว“บ้านสาขลา” ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

เดิมกุ้งเหยียดเริ่มจากการทำเพื่อรับประทานกันเองในครัวเรือน โดยในขณะนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อเรียกกว่ากุ้งเหยียด

การทำกุ้งเหยียดสมัยก่อนเป็นการนำกุ้งที่เลี้ยงไว้ มาต้มให้สุกและใส่น้ำตาลเพิ่มความหวาน แบบที่เราคุ้นหูกันในชื่อของ “กุ้งเชื่อม” “กุ้งต้มน้ำผึ้ง” หรือ “กุ้งหวาน” แล้วแต่ลักษณะการเรียกตามภูมิภาค และด้วยรสชาติความหอมหวานของกุ้งและสีสันแดงสดที่น่ารับประทาน ทำให้ชาวบ้านเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทำตัวกุ้งให้กลายเป็นกุ้งเหยียดที่แพร่หลายในถึงปัจจุบัน
กระบวนการทำกุ้งเหยียด
นายกา พุฒสุก อายุ 66 ปี หรือที่ชาวบ้านในชุมชนเรียกกันติดปากว่า “ลุงกา” ซึ่งเป็นผู้ที่สืบทอดขั้นตอนการทำกุ้งเหยียดเป็นรุ่นแรกๆของบ้านสาขลา เล่าว่า

“การทำกุ้งเหยียด ได้สืบทอดขั้นตอนการทำมาจากรุ่นของคุณแม่ ซึ่งตอนนั้นไม่ได้คิดชื่อว่าเป็นกุ้งเหยียด แค่ต้มกุ้งขายในตลาดตามปกติ แต่ด้วยเวลาต้มกุ้งพอต้มนานๆเข้า ตัวกุ้งจะมีน้ำที่ให้ความหวานออกมา บวกกับความร้อนที่สูงขึ้นร้อยๆ จนทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงเดือดขึ้นเรื่อยๆ การเดือดของน้ำทำให้ตัวกุ้งมีการเคลื่อนที่ จนทำให้บางครั้งดันฝาหม้อที่ปิดทับตัวกุ้งไว้ขณะต้มร่วงหล่นลงมา จึงนำครกหินมาวางทับฝาหม้อไว้ ลักษณะของกุ้งหลังต้มโค้งง้อปกติ แต่บางตัวก็มีลักษณะค่อนข้างเหยียดๆบ้างแต่ก็มีแค่ไม่กี่ตัวในเมื่อทราบกับจำนวนกุ้งทั้งหมดที่ต้มในหม้อเดียวกัน

“สันนิษฐานว่ากุ้งที่มีลักษณะค่อนข้างจะเหยียดเพียงไม่กี่ตัวนั้น อาจจะเป็นตัวกุ้งที่ได้รับการกดทับจากครกหินที่นำมากดทับฝาหม้อไว้ แต่เพราะเห็นว่ากุ้งบางตัวที่มีลักษณะเหยียด ดูแปลกและเป็นที่สะดุดตา”

ลุงกาอธิบายต่อว่า หลังจากนั้นจึงได้ลองผิดดลองถูกอยู่หลายวิธี จนได้วิธีที่ดีที่สุดในการทำตัวกุ้งให้เหยียดตั้งแต่ครั้งแรก คือการเพิ่มขั้นตอนจากเดิมที่นำกุ้งมาวางเรียงเป็นชั้นๆ ให้ทำการหักช่วงลำตัวของตัวกุ้งให้อยู่ในลักษณะเหยียดก่อนมาวางเรียงเป็นชั้นๆ จากนั้นนำไปต้มตามปกติโดยระหว่างต้มก็ยังคงต้องใช้ครกหินวางทับฝาหม้อเช่นเดิม

หลังทดลองทำกุ้งเหยียดเป็นผลสำเร็จ หลังจากนั้นลุงกาได้เปิดร้าน “ลุงกากุ้งเหยียด” ขึ้นที่ปากทางเข้าชุมชนบ้านสาขลา นับเป็นร้านแรกที่เริ่มทำกุ้งเหยียดขาย โดยเปิดขายมาเป็นเวลา 40 ปี ซึ่งในตอนนี้มีลูกสาวของลุงกามาเป็นผู้สืบทอดกิจการกุ้งเหยียดในรุ่นปัจจุบันคือ นางจันทร์แรม สำเภาทอง อายุ 44 ปี
ใครมาบ้านสาขลาแล้วไม่มากินกุ้งเหยียด ถือว่ามาไม่ถึงบ้านสาขลา
ลุงกาได้บอกเล่าอีกว่า “ที่ผ่านมาได้แบ่งปันเคล็ดลับรสชาติความอร่อยและกรรมวิธีในการทำกุ้งเหยียดให้แก่ผู้ที่สนใจในละแวกนั้น ได้ทำเป็นรายได้เสริมหาเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย”

สำหรับขั้นตอนในการทำกุ้งเหยียดสูตรลุงกาในปัจจุบันเรียกได้ว่า แทบจะไม่แตกต่างจากรุ่นแรกเลย เริ่มต้นจากการคัดกุ้งที่มีขนาดตัวพอเหมาะ ที่สำคัญคือกุ้งต้องสด

จากนั้นนำมาล้างน้ำให้ผิวของกุ้งดูขาวสะอาดเป็นอันใช้ได้ นำกุ้งมาหักบริเวณส่วนหลังแล้วทำการจัดวาง ขั้นตอนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญมากเพราะแม้จะทำการหักบริเวณส่วนหลังของตัวกุ้งแล้ว การที่กุ้งจะเหยียดตรงนั้นอยู่ที่การจัดวางกุ้งแต่ละตัวให้เป็นระเบียบเป็นชั้นๆซ้อนกันขึ้นไปในหม้อต้ม ประมาณ 4 ถึง 5 ชั้น สลับกับการเติมน้ำตาล และเกลือในแต่ละชั้น ส่วนบนสุดจะใช้ฝาหม้อปิดไว้และวางทับด้วยเขียงก่อนที่จะวางครกหินทับซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนจะนำกุ้งเหยียดไปต้มโดยไม่ต้องเติมน้ำ เพราะเมื่อต้มไปสักระยะหนึ่งน้ำในตัวกุ้งจะคายออกมาเอง น้ำที่ออกมาจากตัวกุ้งจะให้รสชาติที่หวานเพราะความสดของกุ้ง ต้มจนน้ำใกล้หมดแต่ยังไม่ถึงกับแห้งสนิทก็เป็นอันใช้ได้ และสำหรับเคล็ดลับที่จะทำให้กุ้งเหยียดดูมันวาวให้โรยน้ำตาลปี๊บลงไปเล็กน้อย จะทำให้ผิวกุ้งดูน่ากิน

กุ้งเหยียดสามารถรับประทานได้ทั้งเนื้อและเปลือก รสชาติของกุ้งเหยียดจะหอมและหวานนำ ตัวกุ้งมีลักษณะกรอบนอก ถือเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของบ้านสาขลา เป็นสินค้า OTOP 4 ดาว ที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านสาขลา จนถึงขนาดมีคำกล่าวของชาวบ้านว่า

“ใครมาบ้านสาขลาแล้วไม่มากินกุ้งเหยียด ถือว่ามาไม่ถึงบ้านสาขลา”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น