xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยจุลินทรีย์เชิงรุก พลิกฟื้นผืนปฐพีไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ทำอย่างไรจึงคัดจุลินทรีย์ดี แล้ววิจัยและพัฒนา เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดิน และเกิดประโยชน์ต่อพืช

                เป็นงานของกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน   งานนี้เริ่มต้นเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว จากแนวคิดทำอย่างไรจะใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตร เช่น ซังข้าว ฟางข้าว เศษต้นไม้ใบพืชซึ่งปล่อยทิ้งปล่อยขว้างโดยไร้ประโยชน์  หนักกว่านั้นยังเผาทำลาย โดยไม่รู้ว่า แท้จริงเป็นการเผาเงินทิ้งด้วยซ้ำ

                เป็นที่มาของการเสาะหาจุลินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์  ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. (ชื่อย่อกรมพัฒนาที่ดิน) นอกจากใช้วัสดุการเกษตรเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังลดการใช้ปุ๋ยเคมี และช่วยฟื้นฟูดินให้ดีขึ้น

                เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วปุ๋ยเคมียังมีราคาไม่แพง  การรณรงค์ใช้ปุ๋ยหมักจึงแจ้งเกิดเฉพาะในหมู่เกษตรกรส่วนน้อย  แต่กรมพัฒนาที่ดินไม่ลดละในการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ที่ใช้ประโยชน์หลากหลาย  จนถึงเวลานี้มีผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.มากกว่า 10 สูตร  บางสูตรมีทั้งสูตรธรรมดา (พด.) และสูตรพิเศษ (ซูเปอร์ พด.)

                เมื่อราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลขยับอย่างก้าวกระโดด ราคาปุ๋ยเคมีแพงขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นปัญหาต่อกำลังซื้อ ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาให้ความใส่ใจผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.สูตรต่างๆ  โดยอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในซองที่กรมพัฒนาฯ แจกให้ใช้นั้น แท้จริงคือจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมากที่นอนสงบนิ่งรอการปลุกใช้งาน

                เมื่อฉีกซองเทลงคลุกเคล้าหมักเข้ากับกากน้ำตาลทรายที่เป็นอาหาร  จุลินทรีย์ก็จะแตกลูกแตกหลานขยายตัวไม่หยุดยั้งและช่วยย่อยเศษซากวัสดุการเกษตร จนกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ  จากปุ๋ยอินทรีย์ก็พัฒนาเป็นปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยชีวภาพ

                เฉพาะ 2 ตัวนี้ ปลุกให้จุลินทรีย์กลายเป็นพระเอกผู้ยิ่งใหญ่  เพราะมีการนำไปใช้งานและขยายผลสู่เกษตรกรในวงกว้างทั่วประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

                สุภาพร จันรุ่งเรือง  ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เล่าถึงเบื้องหลังภารกิจปิดทองหลังพระว่า  นโยบายการวิจัยของกรมพัฒนาที่ดินชัดเจนว่าวิจัยแล้วต้องพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่เกษตรกรใช้งานได้ง่าย สะดวก และในราคาประหยัด เป็นการวิจัยแบบใช้งานจริง ไม่ยอมขึ้นหิ้งเฉยๆ

                “เราทำงานเชิงรุก  จนผลิตภัณฑ์ซูเปอร์ พด.1 และซูเปอร์ พด.2 ได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ประจำปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ถือเป็นรางวัลงานวิจัยแรกในรอบ 50 ปี นับแต่ตั้งกรมพัฒนาที่ดิน  และเราส่งผลงานนี้เข้าประกวดในระดับสหประชาชาติ แม้จะไม่ได้รางวัล  แต่เราก็ผ่านลึกเข้ารอบสอง” 

                ข้างต้นเป็นรางวัลเกียรติยศ แต่รางวัลที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือรางวัลที่เกษตรกรได้รับจากการนำจุลินทรีย์ของกรมฯ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาดิน  เพื่อเพิ่มผลผลิต  คุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และการทำให้ต้นพืชแข็งแรง มีความต้านทานโรคและแมลงดีขึ้นด้วย

                “จุลินทรีย์ที่เราวิจัยได้  มันเกิดประโยชน์หลากหลาย เป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยปลดปล่อยธาตุอาหาร ทำให้รากพืชดูดไปเลี้ยงตัวเองได้  พืชแข็งแรงขึ้น มีภูมิต้านทานดีขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มและมีคุณภาพ เช่น รสชาติความหวานหรือกลิ่นหอมด้วย”

                ถ้าเปรียบเป็นการยิงกระสุนนัดเดียว ผลลัพธ์ย่อมได้นกเป็นพวงโต

                ความสำเร็จนี้  นอกจากนโยบายชัดเจน นักวิจัยของกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินคนแล้ว คนเล่าต้องทำงานอย่างหนักหน่วง  นับแต่การระดมสมองวางแผนการทำวิจัยแต่ละโครงการ พิจารณาความเป็นไปได้ ทั้งในแง่องค์ความรู้ที่มีอยู่  ถ้าไม่เพียงพอต้องเสาะแสวงหาจากประชาคมวิจัยอื่น  การตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แทนของเก่าที่ล้าสมัย  รวมทั้งการตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรเกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้ง่าย สะดวก และประหยัด

                “ลักษณะการทำงานคล้ายกับธุรกิจเอกชน ทั้งที่เราเป็นข้าราชการ  แถมนักวิจัยยังต้องทำงานหลายหน้า เช่น เป็นวิทยากรฝึกอบรมเกษตร  ต้องผลิตสารเร่งและน้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งควบคุมคุณภาพสารเร่ง พด.ด้วย  แต่อีกด้านทำให้นักวิจัยของเราเข้มแข็งมากขึ้น”

                สุภาพรเล่าการทำงานของนักวิจัยจุลินทรีย์ว่า   ต้องออกไปเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ในพื้นที่มีปัญหามาตรวจสอบ คัดกรองคุณภาพ และประสิทธิภาพ  วิจัยในห้องปฏิบัติการไปจนถึงการใช้จริงในภาคสนาม ซึ่งใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาไม่น้อยกว่า 3 ปีต่อผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง

                “ในผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ เราอาจต้องค้นหาจุลินทรีย์หลายตัวเพื่อทำงานหลายอย่าง เช่น นอกจากย่อยสลายซากพืชแล้ว ยังสามารถกำจัดไขมันในซากพืชได้ เช่นกรณีทางปาล์มน้ำมันที่จุลินทรีย์ปกติไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ก็ต้องหาตัวอื่นมาช่วยเสริม”

                ความสำเร็จเชิงรูปธรรมบางอย่างที่สุภาพรตั้งข้อสังเกต เช่น การลดลงจนแทบสูญพันธุ์ของหอยทากและหอยเชอรี่  ศัตรูอันดับต้นๆ ของพืชเศรษฐกิจ  เนื่องจากกรมฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรนำหอยทั้งสองชนิดหมักรวมกันกับผลิตภัณฑ์ซูเปอร์ พด.2 ทำให้พืชได้รับแคลเซียมเพิ่มอีกด้วย โดยที่แต่ก่อนรณรงค์ถึงขั้นสร้างเมนูหอยทากก็ยังเอาไม่ลง 

หรือการลดการเผาเศษวัสดุการเกษตรที่นับวันน้อยลงทุกที เนื่องจากเกษตรกรเริ่มรู้ซึ้งถึงคุณประโยชน์

“แต่ก่อนนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงสระบุรี มีการเผาเศษวัสดุการเกษตรตลอดทาง  เดี๋ยวนี้ลดน้อยลงมากแล้ว  เพราะเกษตรกรรู้จักนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าเผาทิ้ง”

สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของงานวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ หรือสารเร่ง พด.สูตรต่างๆ ทั้งการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน  การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  สุภาพรเล่าให้ฟังง่ายๆ ว่า   แม้ผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.มีมากกว่า 10 สูตร และมีคุณภาพ  แต่ความนิยมใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเกษตรกร

“บางสูตรผลิตได้เท่าไหร่ไม่เคยพอ  เกษตรกรร้องขอตลอดเวลา  เพราะเราแจกฟรี  แต่ผลิตภัณฑ์ไหนที่ไม่นิยมเขาก็ไม่ขอ  เราก็ต้องนำมาปรับปรุงสูตรใหม่  เป็นการบ้านใหม่ให้เราเช่นกัน”

นับวันจุลินทรีย์เป็นพระเอกมากขึ้น ทั้งการใช้งานที่ง่าย สะดวก และมีราคาถูก รวมทั้งกระแสของเกษตรอินทรีย์ และราคาปุ๋ยเคมีแพงจนจับไม่ลง ก็เป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.มากขึ้น 

เป็นความสำเร็จเงียบๆ เหมือนปิดทองหลังองค์พระ  แผ่นทองคำเปลวค่อยๆ ล้นหลังองค์พระขยายไปถึงด้านหน้าองค์พระปฏิมา  เป็นความงดงามที่คงทนถาวร และเกิดประโยชน์สุขแก่เกษตรกรไทยถ้วนหน้า

 

 
                               

กำลังโหลดความคิดเห็น