xs
xsm
sm
md
lg

“ประภัสร์” เสนอรื้อโครงสร้างรถไฟแยกบริหาร 4 ภาค กระจายอำนาจวัดผลงานง่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประภัสร์ จงสงวน  ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
“ประภัสร์” เสนอรื้อโครงสร้างรถไฟใหม่ กระจายอำนาจแบ่งรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คุม 4 ภาค แยกงานเดินรถ ซ่อม ระบบบัญชี ชัดเจน กระตุ้นและวัดประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรได้ ระบุแยกหน่วยธุรกิจไม่เวิร์ก รถไฟไม่ดีขึ้นเพราะยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางมากไป เผยสหภาพฯ หนุน มั่นใจไม่มีแรงต้านเพราะเป้าหมายเพื่อพัฒนารถไฟ

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวคิดในการปรับโครงสร้างรถไฟใหม่ โดยแบ่งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ในแต่ละภาคเป็นผู้ดูแล มีการแยกบัญชีรายได้ รายจ่าย การเดินรถ การซ่อมบำรุงออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้แต่ละภาคได้ทำงานและบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยแต่ละภาคจะทำแผนการใช้จ่ายเพื่อเสนอของบประมาณในแต่ละปี และมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน (KPI) ของแต่ละภาค หากภาคใดบริหารจัดการดี และมีรายได้น่าพอใจก็สามารถจ่ายโบนัสให้ตัวเองได้

ทั้งนี้ โครงสร้างในปัจจุบันเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางผ่านรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ที่มีถึง 7 คน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในการทำงานจะเป็นปัญหาของรถไฟในภาพรวม สามารถบอกได้ว่าต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากส่วนไหน บกพร่องจุดไหน ส่วนรูปแบบโครงสร้างแยกหน่วยธุรกิจ Business Unit : BU) ด้านเดินรถ, ด้านซ่อมบำรุง, ด้านบริหารทรัพย์สินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นพบว่าไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่โครงสร้างใหม่จะเห็นการทำงานในแต่ละส่วนได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อรถไฟไม่ดีขึ้นคงต้องยกเลิกไป

โดยแนวคิดปรับโครงสร้างใหม่นี้ได้นำหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายบุญสม เลิศหิรัฐวงศ์ เป็นประธานแล้ว โดยบอร์ดได้สั่งให้ทำการศึกษาให้ชัดเจน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างดำเนินการและใกล้เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจะนำเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งไปยังกระทรวงคมนาคมและ ครม.ต่อไป

“โครงสร้างแบ่งการบริหารเป็นภาคนั้นจะทำให้รองผู้ว่าฯ จะเหลือ 4 คนจากปัจจุบันมี 7 คน โดยรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่เป็นพนักงานประจำจะเป็นผู้กำกับดูแลการทำงาน ไม่ใช่ไปหลบซ่อนอยู่ตามซอกแบบที่เป็นอยู่ รองผู้ว่าฯ ต้องมีความแข็งแกร่ง มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทุกภาคจะแข่งกันทำงาน มีกำไรจะได้โบนัสเหมือนกับรถไฟญี่ปุ่นที่แยกเป็น JR West,JR East ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จกำไรต้องใช้เวลา 26 ปี สุดท้ายจะแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนได้โดยไม่มีปัญหา รูปแบบนี้จะทำให้ทุกคนกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ว่าฯ ซึ่งมาจากการสรรหาฯ ควรมีหน้าที่ในการวางนโยบาย ประสานงานทุกฝ่ายทั้งกับพนักงาน กับนโยบายระดับกระทรวงและรัฐบาล กำหนดเส้นทาง กำหนดค่าโดยสาร ซื้อรถเพิ่มเติม ตรวจสอบการทำงานระบบบัญชี ในภาพรวมไม่ควรไปยุ่งกับเรื่องปฏิบัติ” นายประภัสร์กล่าว

นายประภัสร์มั่นใจว่า โครงสร้างใหม่ที่นำเสนอจะไม่เกิดการต่อต้านหรือแรงกระเพื่อมภายใน เพราะเป็นการทำเพื่ออนาคตของรถไฟที่จะไม่ตกอยู่ในสภาพขาดทุนอีก โดยสิ้นปีงบประมาณ 2557 จะมีรองผู้ว่าฯ ทยอยเกษียณอายุ ในหลักการจะไม่ตั้งเพิ่มก่อน และได้หารือรูปแบบโครงสร้างดังกล่าวกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.แล้ว ซึ่งสหภาพฯ แสดงความเห็นด้วย โดยระบุว่าเคยนำเสนอโครงสร้างเช่นนี้ต่อผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนที่ผ่านๆ มาแล้วแต่ไม่มีใครเห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจบริหารงาน ดังนั้นมั่นใจว่าถ้าทุกคนอยากเห็นรถไฟพัฒนามากกว่านี้คงจะผลักดันให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่กังวลว่าเมื่อตนเองครบวาระปี 58 อาจจะไม่มีการสานต่อ

อย่างไรก็ตาม การใช้โครงสร้างแบ่งการทำงานเป็น 4 ภาค และการดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพรถไฟตามแผนต้องอยู่บนเงื่อนไขว่า ครม.อนุมัติให้ ร.ฟ.ท.รับบุคลากรเพิ่ม ซึ่งขณะนี้ยังขาดกำลังคนด้านช่างกล โยธา เดินรถ ประมาณ 1 หมื่นคน เนื่องจากมติ ครม.ห้ามรับบุคลากรเกิน 5% จากจำนวนผู้เกษียณอายุในแต่ละปี ทำให้บุคลากรรถไฟลดลงเรื่อยๆ จาก 2.6 หมื่นคน เหลือ 1.1-1.2 หมื่นคนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น