“ศรีรัตน์” สั่งทำพิมพ์เขียวพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมนุม โฟกัส 4 กลุ่มสินค้า โอทอป ออแกนิก ฮาลาล และจีไอ ตั้งเป้าพัฒนาให้ได้ 3 พันราย ทำแผนช่วยตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงหาตลาดรองรับ เตรียมเปิด “ไทยคอมเมิร์ซสโตร์” นำสินค้าขึ้นเว็บขายอีกทาง
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมการค้าภายใน จัดทำพิมพ์เขียว “นวัตกรรมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน” เพื่อมุ่งเน้นการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนให้หลากหลาย ส่งเสริมให้มีตัวแทนการค้า สร้างกลยุทธ์การตลาด ส่งเสริมภาพลักษณ์และตราสินค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว
โดยผลิตภัณฑ์ชุมนุมที่อยู่ในเป้าหมาย ได้แก่ สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) กลุ่มสินค้าออแกนิกที่มุ่งส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กลุ่มสินค้าฮาลาลเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิม กลุ่มสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ที่มีลักษณะพิเศษและมีชื่อเสียงในแต่ละพื้นที่ โดยมีสินค้าเป้าหมาย 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น กลุ่มของขบเคี้ยว กลุ่มของขวัญ ของชำร่วย เช่น เบญจรงค์ กลุ่มของใช้ ของตกแต่งบ้าน เช่น เครื่องไม้ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร สปา ที่เชื่อมโยงด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงวัย และสุดท้ายคือ กลุ่มเสื้อผ้า เครื่องประดับ มีเป้าหมายรวมจำนวน 3,000 ราย
นางศรีรัตน์กล่าวว่า พิมพ์เขียวของกระทรวงฯ จะเน้นการจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างครบวงจร โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ฐานข้อมูลผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และจะมีศูนย์ฝึกอบรมผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ระบบการตลาด ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี เพื่อยกระดับสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
“จะเน้นการเพิ่มประโยชน์การใช้งาน การสร้างเรื่องราว การปรับภาพลักษณ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมีความแตกต่าง โดยนักออกแบบไทยที่ได้รับการพัฒนาให้มีฝีมือระดับสากล ซึ่งจะสามารถสนองตอบหรือกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วยคุณประโยชน์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชน” นางศรีรัตน์กล่าว
นางศรีรัตน์กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มช่องทางการค้าขาย กระทรวงฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลิตภัณฑ์ชุมชนไปจำหน่าย เช่น ร้านค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานที่สำคัญในแต่ละภาค ย่านการค้าจังหวัดต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มุมสินค้าในห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และยังมีการกระจายไปยังร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีกดั้งเดิม รวมทั้งร้านค้าธงฟ้า เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนกระจายออกไปอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่
นอกจากนี้ จะนำระบบออนไลน์มาช่วยในการค้าขาย โดยจะเปิดเว็บไซต์ www.thaicommercestore.com เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมร้านค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการ และช่วยเพิ่มช่องทางในการค้าขายให้แก่ผู้ผลิต ขณะเดียวกัน จะสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่จะเปิดร้านค้าออนไลน์ Thai Commerce Shop บนตลาดกลางและร้านค้าออนไลน์ของธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นที่นิยมและยอมรับของผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย