สนพ.จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ศึกษาความเสียหายจากไฟฟ้าดับ เผยผลการศึกษาทั้งประเทศอัตราค่าความเสียหายอยู่ที่ 82 บาทต่อหน่วย และ 85,609 บาทต่อครั้ง
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดทำโครงการศึกษาอัตราความเสียหายอันเนื่องมาจากไฟฟ้าดับ (Outage Cost) เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเนื่องมาจากไฟฟ้าดับของผู้ใช้ไฟฟ้า ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การศึกษาพบว่าอัตราความเสียหายของทั้งประเทศ ณ ปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 82 บาทต่อหน่วย และ 85,609 บาทต่อครั้ง
โดยค่าดัชนีความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับของ กฟภ.อยู่ที่ 86.30 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีค่าสูงกว่า กฟน.ที่มีค่าความเสียหายต่อพลังงานเมื่อเกิดไฟฟ้าดับอยู่ที่ 74.96 บาทต่อหน่วย ด้วยเหตุผลหลักของความเสียหายแบบแยกประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับกิจกรรมผู้ใช้ไฟฟ้า ขนาดของกิจการดำเนินงาน และความต้องการปริมาณพลังงานไฟฟ้า
สำหรับการสำรวจความเห็นของผู้ใช้ไฟจาก 3 การไฟฟ้า จำนวน 6,088 ตัวอย่าง แบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 8 ประเภท ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว โดยใช้หลักการแนวคิดในการจัดทำแบบสอบถาม 3 วิธี คือ
การประเมินความเสียหายโดยตรง (Direct Assessment) เป็นการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสามารถประมาณได้โดยตรงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าดับ เช่น ค่าแรง พนักงาน ค่าความเสียหายจากวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการเริ่มดำเนินการใหม่ และความเสียหายเนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ การประเมินโดยอ้อม (Indirect Assessment) ประเมินความเสียหายจากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความไม่สะดวกสบาย หรือความไม่พึงปรารถนาที่เกิดเนื่องจากไฟฟ้าดับ ซึ่งเป็นการวัดจากความรู้สึกของผู้ตอบเป็นสำคัญ และเหตุการณ์สมมติ (Contingent Valuation) เป็นการประเมินที่เป็นส่วนเสริมของการประเมินความเสียหายโดยตรง ที่อาศัยหลักการของความเต็มใจจ่าย และความเต็มใจที่จะยอมรับ
“สนพ.ได้ทำการศึกษาความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งผลการศึกษาได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงในการวางแผนระบบไฟฟ้าของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้ข้อมูลในการศึกษาฯ มีความทันสมัย และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและลักษณะการใช้ไฟฟ้า ในปี 2555 สนพ.จึงได้ร่วมกับ มจพ.ทำการศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่สอดคล้องกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความทันสมัย และนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการจัดการด้านพลังงานของประเทศต่อไป” ผอ.สนพ.กล่าว