“สศอ.” เผยผลสำรวจผลกระทบความขัดแย้งทางการเมืองต่อภาคอุตฯ ปี 2557 86% ได้รับผลกระทบ จากปัจจัยความเชื่อมั่นลดต่ำ การขนส่งสินค้า รวมถึงการติดต่อระบบราชการ หากปัญหายุติได้ในไตรมาส 2 จะกระทบต่อกำลังการผลิตลดลง 14.4% ยอดขายในประเทศลด 14.2% และการส่งออกลด 18.6% ถ้ายืดเยื้อทั้งปีก็จะกระทบมากขึ้น
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ 300 รายจาก 9 อุตสาหกรรมหลัก เช่น อาหาร สิ่งทอ เครื่องหนัง สิ่งพิมพ์ ยานยนต์ เป็นต้น ต่อ “ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่ออุตสาหกรรมไทยปี 2557” โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยช่วง ก.พ. 57 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 86% โดยผู้ขายสินค้าในประเทศได้รับผลกระทบ 82.2% ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ 91.7% ซึ่งประเด็นผลกระทบอันดับ 1 คือความน่าเชื่อถือของธุรกิจ รองลงมาเป็นการขนส่งสินค้า และอันดับ 3 การติดต่อหน่วยงานราชการ
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อแบ่งเป็น 4 กรณีดังนี้ กรณีปัญหาการเมืองยุติในสิ้นเดือน มี.ค. หรือสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ผู้ประกอบการ 52.7% มองว่าจะทำให้การผลิตปีนี้ลดลงเฉลี่ย 11.2% กรณียืดเยื้อไม่เกินครึ่งปีหรือจบภายในไตรมาส 2 ผู้ประกอบการ 71.3% มองว่าจะทำให้การผลิตลดลงเฉลี่ย 14.4% กรณียืดเยื้อไม่เกิน 9 เดือนผู้ประกอบการ 84% คาดว่าผลผลิตจะลดลง 18.8% และกรณียืดเยื้อตลอดทั้งปีผู้ประกอบการ 85.3% คาดว่าการผลิตจะลดลง 27.2%
“เหตุผลที่การผลิตอุตสาหกรรมลดลงหลักๆ มาจากลูกค้าขาดความเชื่อมั่น 30.6% เพราะปัญหาการเมืองทำให้คำสั่งซื้อลด 24.3% ลูกค้าไม่เชื่อว่าจะขนส่งสินค้าได้ 24.1% เศรษฐกิจชะลอตัวจากการเมือง 14.6% ลูกค้าหันไปซื้อรายอื่น เป็นต้น” นายสมชายกล่าว
สำหรับกรณีการจำหน่ายสินค้าในประเทศและการส่งออก กรณีปัญหาการเมืองยุติได้ในปลายไตรมาสแรก (สิ้น มี.ค.) ผู้ประกอบการ 58.8% มองว่ายอดขายในประเทศจะลดลงเฉลี่ย 10.6% จากปี 2556 และผู้ส่งออก 57.7% คาดว่าการส่งออกจะลดลงปี 2557 เฉลี่ย 9% จากปี 2556 กรณียุติได้ในสิ้นไตรมาส 2, 3 และ 4 จะส่งผลต่อผู้ประกอบการ 71.1%, 85.6% และ 27.9% ตามลำดับ ที่คาดว่ายอดขายในประเทศจะลดลง 14.2% 18.8% และ 27.9% ตามลำดับ และมีจำนวนผู้ส่งออก 65.4% 80.8% และ 84.6% ตามลำดับ ที่คาดว่าการส่งออกจะลดลงปี 2557 โดยคาดว่าจะลดลง 13.8% 18.6% และ26.3% ตามลำดับ
“การผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกลดลงเกิดจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่ลดลงเนื่องจากลูกค้าไม่เชื่อมั่นธุรกิจ และไม่เชื่อว่าจะส่งสินค้าได้ ทำให้ส่วนหนึ่งผู้ค้าเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากรายอื่นๆ แทน” นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการขายสินค้าในประเทศ 58.9% และผู้ส่งออกประมาณ63.3% มีแผนรับมือกับปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐคือ 63.4% ต้องการให้จัดการปัญหาการเมืองโดยเร็วเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุน 18.6% เร่งแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวต่างชาติ 10.4% มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดดอกเบี้ย 7.6% ต้องการให้รัฐเร่งพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ