ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ทำใจลดกำลังผลิตปีนี้ลงเฉลี่ย 5-10% ตามสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศชะลอตัวจากหมดโครงการรถคันแรกและแรงซื้อในประเทศตกต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นปลดแรงงานออกเหตุยังขาดแคลน ลุ้นบีโอไอหนุนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นร่วมทุนคนไทยแทนย้ายฐานมาลงทุนตรง หวั่นแย่งตลาดชิ้นส่วนฯ ไทยกระอัก
นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมปีนี้คาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนคงจะลดอัตรากำลังการผลิตชิ้นส่วนฯ ลงประมาณ 5-10% จากปีที่ผ่านมาจากยอดการจำหน่ายในประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลงหลังจากหมดโครงการรถคันแรก รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อตลาดในประเทศเฉลี่ยปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับ 1.1-1.2 ล้านคันที่เหลือราว 1.2 ล้านคันจะเป็นการส่งออก
“ช่วง 2 เดือนแรกนี้การขายรถในประเทศอาจจะลดลงแรงเพราะหลายปัจจัยทั้งหมดรถคันแรกและปัญหาการเมืองทำให้คนชะลอการจับจ่าย ทำให้ภาพรวมชิ้นส่วนฯ ขณะนี้ลดกำลังการผลิตลง 20% แต่เชื่อว่าไตรมาส 2 แล้วก็น่าจะค่อยฟื้นดีขึ้น แต่ทั้งปีก็คงจะลดลง 5-10% ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนฯ ที่มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศเพิ่มเติมปัจจุบันคงจะต้องชะลอออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนจากค่ายรถยนต์อีกครั้ง” นายโกวิทย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมแม้ว่าจะลดกำลังการผลิตลงแต่บริษัทชิ้นส่วนฯ ก็ไม่มีนโยบายลดคนงานแต่อย่างใด เนื่องจากการพัฒนาแรงงานฝีมือในกลุ่มนี้ต้องอาศัยเวลาและปัจจุบันยังขาดแคลนเฉลี่ยปีละ 5-6 หมื่นคน และตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้จะผลักดันให้การผลิตรถยนต์ของไทยเป็น 3 ล้านคันในปี 2560 ก็จะผลักดันให้เกิดความต้องการแรงงานฝีมือถึง 1 แสนคนต่อปี ขณะที่ภาคการศึกษาของไทยไม่สามารถสร้างนักเรียนที่จบระดับอาชีวะมาใช้ได้ทัน ขณะที่แรงงานไร้ฝีมือในระบบเองก็ถูกแย่งกันเองจากอุตสาหกรรมอื่นๆ
“เด็กไทยส่วนใหญ่จบมัธยมต้นก็ต่อมัธยมปลายแล้วก็ไปต่อสายวิศวกรรม เหลือเรียนอาชีวะไม่มาก แต่พออาชีวะจบมาก็มองต่อปริญญาตรีเราก็เลยยังขาดแคลนแรงงานฝีมือพอสมควร ขณะที่แรงงานมีฝีมือเองเราก็ไม่พอต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพราะในตลาดรวมก็แย่งแรงงานกันมาก ซึ่งสังคมไทยเองก็กำลังก้าวสู่วัยชรา ยุคเบบี้บูมเราหมดแล้ว” นายโกวิทย์กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยยังเผชิญกับการย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังติดตามอยู่ว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะมาแย่งงานคนไทยมากน้อยเพียงใด โดยกำลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการให้โปรโมตการให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกับคนไทยมากกว่าที่จะสนับสนุนให้เขามาลงทุนเองโดยตรง
“การผลิตของไทยเองก็ยังมีปัญหาเพราะเราเองก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นจึงเปิดช่องให้เอสเอ็มอีเขาเข้ามาลงทุนได้โดยตรง ซึ่งเราเองต้องการให้เขามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากกว่าเพื่อที่จะสามารถพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและยังรักษาผู้ประกอบการไทยไว้ เพราะถ้าเขาทำเองทั้งหมดเอสเอ็มอีไทยก็จะลำบากแน่นอน” นายโกวิทย์กล่าว