xs
xsm
sm
md
lg

ดอนเมืองครบ100 ปี ผ่านวิกฤติปิด...เปิด...เอื้อประโยชน์การเมือง!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดอนเมืองครบ100 ปี ผ่านวิกฤติปิด...เพื่อผลประโยชน์การเมือง ปิด...น้ำท่วม และกลับมาเปิดเพื่อผลประโยชน์อีกครั้ง ทอท.จัดงาน “100 ปี 100 ล้านความสุข ท่าอากาศยานดอนเมือง”บอกเล่าเรื่องราวแห่งความสุข ความทรงจำ และความประทับใจ และเร่งแผนพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 39 ล้านคน

วันนี้ ( 8 มีนาคม 2557) ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ของการดำเนินงานซึ่งบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จึงได้จัดงาน “100 ปี 100 ล้านความสุข ท่าอากาศยานดอนเมือง” เพื่อให้ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาพัฒนาการของสนามบินดอนเมืองและร่วมกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงความผูกพันที่สนามบินแห่งนี้อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน โดยให้ประชาชนและผู้โดยสารที่ใช้บริการได้ร่วมเฉลิมฉลอง โดยภายในงานประกอบด้วยนิทรรศการภาพถ่าย(camera)ที่บอกเล่าเรื่องราวแห่งความสุข ความทรงจำ และความประทับใจต่อท่าอากาศยานดอนเมืองตลอด 100 ปีที่ผ่านมา และมีกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/dmkairport และเว็บไซต์ http://www.airportthai.co.th

“สนามบินดอนเมือง” หรือ “ท่าอากาศยานดอนเมือง” มีชื่อเดิมคือ “ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ” เป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย โดยตั้งอยู่ที่เขตดอนเมือง จังหวัดกรุงเทพฯ และสร้างขึ้นเมื่อปี 2457 โดยท่าอากาศยานดอนเมืองต้องปิดให้บริการไปครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 และโอนย้ายทุกสายการบินไปให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว เนื่องจากรัฐบาลในขณะนี้มีนโยบายบริหารแบบสนามบินเดี่ยว (Single Airport) แค่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว รัฐบาล คมช. ที่มีพล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ท่าอากาศยานดอนเมืองกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2550 เพื่อแก้ปัญหาและลดภาระของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ยังไม่พร้อม100 % โดยให้สายการบินไทยย้ายเที่ยวบินในประเทศกลับมาเป็นสายการบินแรก ส่วนสายการบินอื่นขึ้นยู่กับความสมัครใจ

ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคามีมติให้การบินไทยย้ายกลับไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอ้างผลกระทบจากการให้บริการ2 สนามบินทำให้การบินไทยมีภาระค่าใช้จ่ายสูง ท่ามกลางข้อครหาว่ามีวาระซ่อนเร้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงนโยบาย เช่น ต้องการให้ท่าอากศยานแออัดเร็วๆ เพื่อเร่งรัดแผนก่อสร้างเฟส2 ซึ่งจะมีการประมูลงานก่อสร้างมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงการรวมศูนย์ผู้โดยสารเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์ไว้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว

ต่อมาสายการบินนกแอร์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น และโอเรียนทร์ไทยแอร์ไลน์ ได้เปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพียง 2 สายการบินเท่านั้น จนกระทั่งปลายปี 2554 ท่าอากาศยานดอนเมืองต้องประสบวิกฤติกับน้ำท่วมอย่างหนักจนต้องหยุดบริการและกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 โดยมีสายการบินไทยแอร์เอเชีย กลับมาเปิดให้บริการ และใล้ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นศูนย์กลางแทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ว่าที่เรืออากาศโท จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. กล่าวว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองมุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนในปี 2557 และจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดควบคู่กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนั้น ยังได้ตั้งเป้าหมายการบริหารจัดการให้ท่าอากาศยานสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้โดยสาร

โดย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 กำหนดให้ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานรองรับสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers: LCCs) และ/หรือเส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point) บนหลักการความสมัครใจของสายการบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 โดยใช้อาคารผู้โดยสารอาคาร 1 ให้บริการ ศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 18.5 ล้านคนต่อปี ในปัจจุบันมีสายการบิน Low Cost ที่ทำการบินประจำ จำนวน 7 สายการบิน ได้แก่สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินอินโดนีเซียแอร์เอเชีย สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินโอเรียนท์ไทย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสยาม จีเอ ซึ่งทำการบินในเส้นทางการบินระยะใกล้ถึงระยะกลาง โดยมีเที่ยวบินประจำ 48 จุดบิน แบ่งเป็น 23 จุดบินทั่วประเทศไทย และ 24 จุดบินระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเส้นทางการบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด ทอท.จึงมีแผนพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมืองในปี 2557 คือ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 งานซ่อมแซมอาคาร South Corridor งานซ่อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 ปรับปรุงอาคารจอดรถ 7 ชั้น ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2557 และจะทำให้ มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี และเมื่อรวบรวมศักยภาพของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อพัฒนาระยะที่ 2 ที่จะแล้วเสร็จในปี 2559 จะทำให้กรุงเทพมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคน

นอกจากนั้น ยังมีแนวทางพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมืองในระยะต่อไปเพื่อให้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 39 ล้านคน ในขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว คือ มีระบบบริหารจัดการให้ผู้โดยสารภายในประเทศทั้งขาเข้าและขาออกใช้เวลาเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆภายในท่าอากาศยานไม่เกิน 1 ชั่วโมง ขณะที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง



กำลังโหลดความคิดเห็น