xs
xsm
sm
md
lg

หนังฮีโร่เพียบดันตลาด 5 พันล้าน เมเจอร์ขายโฆษณาควบผู้ผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีทองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทะลุ 5,000 ล้านบาท ซูเปอร์ฮีโร่หนังดังตบเท้าลงสนามแน่นเอี้ยดตั้งแต่ เม.ย.นี้เป็นต้นไป อานิสงส์สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์คาดพุ่ง 10-15% หลังไตรมาสแรกซึม “เมเจอร์ แอด” เดินเกมรุก งัดกลยุทธ์ขายสื่อโฆษณาร่วมค่ายหนัง บูมหนังไทย 15 เรื่อง ต่อยอดสร้างรายได้ในต่างจังหวัด สิ้นปีมั่นใจรายได้โฆษณาแตะ 1,200 ล้านบาท จากจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้นกว่า 500 โรงทั่วประเทศ ส่งรายได้รวมเมเจอร์โต 10% จาก 7,711 ล้านบาทในปีก่อน

นายนิธิ พัฒนภักดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีแอด จำกัด ในเครือบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2557 นี้ถือว่าดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มภาพยนตร์ต่างประเทศฟอร์มยักษ์ ที่มีหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นภาคต่อเตรียมเข้าฉายหลายเรื่อง เช่น กัปตันอเมริกา, อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน, ทรานส์ฟอร์เมอร์ส และอีกหลายเรื่องที่คาดว่าจะทำเงินเกิน 100 ล้านบาท

แม้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.จะไม่ค่อยมีหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉาย และสาขาในใจกลางเมืองจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมก็ตาม อีกทั้งกลุ่มภาพยนตร์ไทยในปีนี้มีจำนวนหลายสิบเรื่องที่พร้อมเข้าฉาย เช่น ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คิดถึงวิทยา เป็นต้น

โดยในส่วนของกลุ่มเมเจอร์ฯ เองนั้น ปีนี้จะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉาย 15 เรื่องจากค่ายหนัง 3 ค่าย แต่ละเรื่องลงทุน 30-40 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะส่งผลให้ทั้งปีนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมน่าจะสูงถึง 5,000 ล้านบาท โตขึ้น 10-20% มาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ 60% จากปีก่อนอยู่ที่ 65-70% และภาพยนตร์ไทย 40% จากปีก่อนมีสัดส่วน 30-35%

ส่วนมูลค่าโฆษณาในโรงภาพยนตร์ที่มีทิศทางไปตามหน้าหนังแต่ละปีนั้น แม้ว่าตามผลสำรวจของนีลเส็นจะมองว่าปีนี้โฆษณาในโรงภาพยนตร์จะเติบโต 2% คิดเป็นมูลค่าได้ 7,500 ล้านบาทก็ตาม แต่เชื่อว่าในความเป็นจริงน่าจะเติบโตที่ 10-15% ตามหน้าหนัง และโลเกชันของโรงภาพยนตร์ที่ขยายเพิ่มในต่างจังหวัด รวมถึงรูปแบบการฉายในโรงพิเศษที่ทำให้มีราคาตั๋วหนังสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของเมเจอร์ ซีนีแอด ปีนี้จะมีการเจาะลึกรูปแบบการขายสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ให้เด่นชัดมากขึ้น ได้แก่ 1. ขายโฆษณาแยกตามภาพยนตร์ที่เชื่อว่าจะทำเงิน 2. ขายโฆษณาร่วมกับค่ายหนังในเครือ เสนอสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กับหนังไทย 15 เรื่อง และขายโฆษณากับหนังต่างประเทศที่นำเข้ามาฉายอีก 20 เรื่อง

3. แยกขายโฆษณาในสาขาพารากอน ซีนีเพล็กซ์ออกมาอย่างชัดเจน เพราะเป็นสาขาที่ทำรายได้มากสุด มีศักยภาพในการขายโฆษณาได้หลากหลาย พร้อมจำกัดการโฆษณาในโรงหนังที่ 12 เรื่อง ไม่เกิน 8-10 นาที (ไม่นับตัวอย่างหนังใหม่) จากเดิมสูงสุดมีถึง 15 เรื่อง ซึ่งปีที่ผ่านมาทำรายได้ 10% ของรายได้รวมโฆษณา ปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 15% และ 4. รุกขายโฆษณาในสื่อออนไลน์มากขึ้น จากปีก่อนทำรายได้ 20 ล้านบาท ปีนี้น่าจะเติบโตเป็นเท่าตัว

“กลยุทธ์สำคัญในปีนี้คือ การขายโฆษณาร่วมกับค่ายหนังในเครือมากยิ่งขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขาของเมเจอร์ฯ ที่เน้นต่างจังหวัด โดยในต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่ยังนิยมดูหนังไทยเป็นหลัก ด้วยรูปแบบการขายสื่อโฆษณาแบบครบวงจร ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และออนกราวนด์ ภายใต้งบลงทุนเพิ่มอีก 30-40 ล้านบาท สำหรับเพิ่มจอโฆษณาแอลอีดีในสาขาใหม่และทดแทนจอเดิม”

ในแง่ของรายได้เมเจอร์แอดนั้น ปีนี้มองว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10-15% จากปีก่อนปิดที่ 1,077 ล้านบาท โตจากปี 2555 ถึง 24% ซึ่งในปีนี้มองว่าสัดส่วนรายได้จากการขายโฆษณาไปกับภาพยนตร์นั้นจะสูงถึง 50% และอีก 50% มาจากอื่นๆ รวมกัน หรือในภาพรวมรายได้กว่า 70% มาจากกรุงเทพฯ และมาจากต่างจังหวัด 30% ในส่วนของลูกค้าที่เลือกใช้สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์นั้น ปีนี้กลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์มีทิศทางเข้ามาใช้มากขึ้น จากปีก่อนกลุ่มหลักที่ทำรายได้สูงสุดคือ ฟูดแอนด์เบฟเวอเรจ 2. ยานยนต์ 3. สถาบันการเงิน 4. อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. คอนซูเมอร์โปรดักต์ นายนิธิ กล่าว

สำหรับการขยายสาขาของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์นั้น ปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 7-8 สาขา เช่น สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และเอ็มควอเทียร์ เป็นต้น ส่งผลให้ถึงสิ้นปีนี้เมเจอร์ฯ จะมีจำนวนโรงภาพยนตร์กว่า 76 สาขา หรือกว่า 500 โรงภาพยนตร์ จำนวนที่นั่งกว่า 1.2 แสนที่นั่ง โดยในแง่รายได้รวมทั้งกลุ่ม สิ้นปีนี้น่าจะโตขึ้น 10% จาก 7,711 ล้านบาทที่ปิดไปในปีก่อน โดยมาจากการขายตั๋ว เครื่องดื่ม 70% รายได้จากโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 12% โบว์ลิ่ง 11% และพื้นที่เช่า 11%


กำลังโหลดความคิดเห็น