สภาทนายความฯ พบชาวนาที่พาณิชย์ เบรกห้ามบุกทำลายโกดังและคลังเก็บข้าวสารรัฐบาล เหตุเป็นการทำผิดกฎหมาย แนะให้เฝ้าอยู่ด้านนอก ก่อนขอเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องและยื่นขอให้ศาลเข้าร่วมตรวจสอบข้าวในสต๊อก
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยภายหลังเดินทางมาหารือกับกลุ่มชาวนาที่ปักหลักอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ว่า ต้องการมาห้ามกลุ่มชาวนาไม่ให้ไปบุกทำลายตรวจโกดังและคลังเก็บข้าวสาร แต่ให้เฝ้าสังเกตการณ์ และปิดล้อมอยู่ด้านนอกเท่านั้น เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นการบุกรุก และอาจเข้าข่ายการทำลายทรัพย์สินได้
ส่วนแนวทางในการดำเนินการ สภาทนายความฯ จะเป็นตัวแทนในการฟ้องร้อง และยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออำนาจและให้ศาลเข้าไปตรวจค้นข้าวในโกดังและคลังเก็บว่ามีอยู่จริงหรือไม่แทน โดยวันนี้จะร่างคำร้องให้เสร็จเรียบร้อย และนำมาหารือกับแกนนำชาวนาต่อไป
ทั้งนี้ นายเดชอุดมได้แสดงความมั่นใจว่าจะชนะคดีแน่นอน เพราะข้ออ้างของรัฐบาลที่ไม่สามารถหาเงินมาได้นั้นฟังไม่ขึ้น จึงจะพิจารณาจากสัญญาหรือใบประทวนของชาวนาที่เมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินแล้วรัฐไม่จ่ายเงินให้ โดยในการฟ้องร้องจะฟ้องคู่สัญญาคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า การจะเข้าไปตรวจสอบหรือเปิดดูข้าวในโกดังหรือคลังกลาง ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือกุญแจ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมการค้าภายใน และธ.ก.ส. ก่อน ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถให้ผู้ใดเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งหากเกิดเหตุอะไร ผู้บุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและหากข้าวหายหรือเสียหายก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย โดยจนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานงานจากแกนนำชาวนาหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการให้เปิดโกดังหรือคลังเก็บข้าวในพื้นที่ใด
ขณะที่นายระวี รุ่งเรือง ประธานศูนย์ข้าวชุมนุมภาคตะวันตก กล่าวว่า มติแกนนำต้องการเข้าไปดูโกดังข้าวในวันที่ 12 ก.พ.2557 แต่เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดเจน จะนำเอาคำแนะนำของสภาทนายความฯ ไปหารือกันก่อน ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ยังอยากรู้ว่าในโกดังมีข้าวอยู่จริงหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด สภาทนายความฯ ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 11 ก.พ.2557 โดยระบุว่า หลังจากที่นายกสภาทนายความฯ ได้เข้าเยี่ยมชาวนาที่มาชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ชาวนายังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการไม่เข้าใจข้อกฎหมาย และกลไกการทำสัญญา จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงได้มอบหมายให้ทนายความอาสา พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะประธานสภาทนายความจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัด กรรมการภาค และกรรมการบริหารสภาทนายความ ให้ช่วยกันดูแลให้มีการดำเนินคดีให้เป็นไปตามนโยบายของสภาทนายความ ดังนี้
1.ให้ดำเนินการวิเคราะหข้อเท็จจริง ประมวลผล และตรวจสอบพยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องในแต่ละชุดของชาวนาผู้เสียหาย ให้ส่งรูปแบบคำฟ้องในทำนองหรือนำกรอบของคำฟ้องที่ได้ส่งเป็นตัวอย่างให้พร้อมกับคำสั่งของสภาทนายความ ที่ 22/2557 ลงวนที่ 10 ก.พ.2557 โดยให้ปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับกรณีของเหตุการณ์ในแต่ละกลุ่มของชาวนา
2.เมื่อยื่นคำฟ้องต่อศาล ให้ทนายความผู้รับผิดชอบในคดียื่นคำร้องขอใช้วิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา เพื่อขอให้ศาลเดินเผชิญสืบทรัพย์ที่จำนำหรืออยูในความครอบครองของบุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ หรือตัวแทนว่ายังอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวนาได้มีความอุ่นใจว่าการส่งมอบทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกนั้น ได้เป็นไปโดยชอบและมีข้าวเปลือกอยู่จริง
3.ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ในทุกระดับทั้งในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นวิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์ประเภทเคเบิลทีวี หรือสื่อสารมวลชนใดก็ตาม ขอให้ชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนเดินทางมาขอรับการช่วยเหลือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับสภาทนายความในการดำเนินคดีกับผู้ที่ผิดสัญญากับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวข้างต้น