กระทรวงพลังงานเตรียมข้อมูลเสนอนายกรัฐมนตรี หลังถูกเวที กปปส. และเครือข่ายสังคมออนไลน์ออกมาระบุการแทรกแซงของอดีตนายกรัฐมนตรี “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ในหลายเรื่อง ทั้งระบบสัมปทานปิโตรเลียมและอื่นๆ ล่าสุด “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” อดีต รมว.พลังงาน ร่วมสงสัยกรณีแหล่งโมซัมบิก และปัญหา รง.4 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ วันนี้ (10 ก.พ.) เพื่อติดตามงาน หลังหน่วยงานต่างๆ ถูกปิดโดย กปปส.เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน และล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เตรียมข้อมูลชี้แจงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลและอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปแทรกแซงหลายเรื่อง เช่น สัมปทานแหล่งนงเยาว์ในไทย การซื้อแหล่งสัมปทานในโมซัมบิก โดย ปตท.สผ.เป็นต้น
ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ได้กล่าวบนเวที กปปส.ปทุมวัน วานนี้ (9 ก.พ.) ว่าเรื่องโมซัมบิกเป็นข้อสงสัยของสังคมว่าซื้อมาในราคาสูงมากแม้เชลล์ยังไม่แข่งขัน ดังนั้นประชาสังคมต้องติดตามว่าลงทุนแล้วได้ประโยชน์จริงหรือไม่ พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาบอร์ดของรัฐวิสาหกิจต่างๆ มีตัวแทนของนักการเมืองเข้าไปทำงานจึงรู้ข้อมูลประมูลด้านธุรกิจ และใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ จึงต้องเร่งปฏิรูป หาทางป้องกัน นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเพราะมีการเรียกรับผลประโยชน์จากข้อกำหนดให้ขอใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 โดยเรื่องเหล่านี้ไม่น่าเกิดขึ้น
ด้าน ปตท.สผ.ชี้แจงในเว็บไซต์ระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนและ Social Media เกี่ยวกับการโอนเงินค่าน้ำมันจำนวน 25,000 ล้านบาทให้บริษัทที่ได้สัมปทานน้ำมันในประเทศโมซัมบิกนั้น ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ปตท. และเป็นผู้ลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในประเทศโมซัมบิกขอให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ไม่เคยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทน้ำมันใดๆ ในโมซัมบิกเพื่อแลกกับสิทธิการลงทุน
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับการได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” ซึ่งอยู่ในแปลง G11/48 ในอ่าวไทย ของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียมในประเทศไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึง ปตท.สผ.นั้น ปตท.สผ.ขอชี้แจงว่าทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในแปลงสัมปทานของแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” ซึ่งได้รับสัมปทานในปี 2550 และไม่เคยมีการถือหุ้นในแหล่งน้ำมัน “นงเยาว์” แต่อย่างใด
สำหรับแปลงสัมปทาน B5/27 ปตท.สผ.เคยเข้าลงทุนสำรวจปิโตรเลียมตั้งแต่ปี 2532 และได้ถอนตัวออกจากแปลงดังกล่าวในปี 2543 เนื่องจากในขณะนั้นพบปิโตรเลียมในปริมาณน้อย ไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนละแปลงสัมปทานกับแหล่งนงเยาว์