“กบง.” เห็นชอบนำเงินกองทุนน้ำมันฯ จ่ายชดเชยดีเซลเพิ่มขึ้น 0.60 บาทต่อลิตรจากเดิมที่จัดเก็บเป็นศูนย์หลังราคาโลกพุ่ง แถมบาทอ่อน และบี 100 ราคาแพงขึ้น ยืนยันเดินหน้าบี 7 วันที่ 1 ม.ค. 57 แต่ยอมรับสต๊อกน้ำมันปาล์มต่ำลงกว่า 2 แสนตันทำให้ต้องรอดูประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดเผยว่า กบง.ได้เห็นชอบนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีฐานะสุทธิอยู่ที่ 4,960 ล้านบาทมาชดเชยราคาดีเซลอัตราลิตรละ 0.60 บาทจากเดิมที่เก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนฯ 0 บาทต่อลิตร เนื่องจากค่าการตลาดเหลือเพียง 0.66 บาทต่อลิตรเพราะต้นทุนได้ปรับสูงขึ้นจากทั้งราคาดีเซลตลาดโลกที่สูงขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 13 สตางค์ต่อเหรียญสหรัฐ น้ำมันไบโอดีเซลสูงขึ้นลิตรละ 3 บาท ทั้งนี้เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตามนโยบายรัฐบาล
“กบง.ครั้งนี้ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมจ่ายวันละ 115 ล้านบาทเป็น 144 ล้านบาทต่อวัน และการอุดหนุนครั้งนี้ทำให้ค่าการตลาดดีเซลเพิ่มเป็น 1.26 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วงนี้ยอมรับว่าดีเซลราคาค่อนข้างสูงเพราะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ความต้องการเพิ่มขึ้น” นายสุเทพกล่าว
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ยังได้รายงานการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี 100) ในดีเซล 5% หรือบี 5 เป็น 7% หรือบี 7 ว่า ขณะนี้ได้ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรถยนต์และการกำหนดมาตรฐานต่างๆ รวมถึงกฎหมายที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 57 เป็นต้นไป ซึ่งอนาคตคาดว่าผลผลิตปาล์มจะสูงจนทำให้สต๊อกอยู่ในระดับ 3 แสนตันต่อเดือนได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้สต๊อกปาล์มน้ำมันเหลือค่อนข้างต่ำกว่า 2 แสนตันต่อเดือน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะขอติดตามสต๊อกอีกระยะว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากมีปัญหาก็สามารถให้ ธพ.ลดสัดส่วนได้
“คงต้องรอนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติอีกครั้ง เพราะกระทรวงพาณิชย์จะต้องแจ้งไปเพราะจะดูสต๊อกเป็นหลัก ซึ่งเดิมจะกำหนดให้เพื่อความมั่นคงที่ 2 แสนตันต่อเดือนแต่ขณะนี้เหลือต่ำกว่า เพราะผลผลิตปาล์มออกมาน้อยทำให้ปาล์มดิบราคาสูงจากเดิม กก.ละ 3 บาทเป็นเกือบ 6 บาททำให้ไบโอดีเซลสูงขึ้น” นายสุเทพกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติโครงการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (แอลพีจี) ในวงเงิน 49 ล้านบาทให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการติดตามและตรวจสอบการใช้สิทธิ์ของครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย และร้านค้า หาบเร่แผงลอยอาหาร ฯลฯ