xs
xsm
sm
md
lg

ทล.คาดใช้งบ 2 หมื่นล้านขยายถนนบรมราชชนนีอีก 21.3 กม. เชื่อมทวายรองรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
กรมทางหลวงสรุปรูปแบบต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี ระยะทาง 21.3 กม. พร้อมขยายทางคู่ขนาน ทางขึ้นลง ทางต่างระดับเชื่อมต่อถนนสายหลัก 4 แห่ง และสะพานเชื่อมมอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ คาดเสนองบปี 59 ลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้าน ใช้เวลาก่อสร้าง 7 ปี

นายธีระพงษ์ รติธรรมกุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานวางแผน สำนักวางแผน กรมทางหลวง กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ (การสัมมนาครั้งที่ 2) การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี และปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 338 สายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี โดยได้นำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับที่เหมาะสม และรูปแบบการพัฒนาถนนของโครงการฯ

โดยโครงการประกอบด้วย 1. การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 338 สายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ช่องทางหลักขนาด 6 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ทางคู่ขนาน 6 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3 เมตร ไม่มีไหล่ทาง และทางเท้ากว้างข้างละ 3.50 เมตร 2. ต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี จาก กม.12+780 ถึงทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ระยะทาง 21.3 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร ไปกลับ พร้อมทางขึ้นลง 5 จุด ประกอบด้วย ถนนพุทธมณฑลสาย 2 บริเวณคลองทวีวัฒนา ถนนพุทธมณฑลสาย 4 กับสาย 5 บริเวณระหว่างถนนสาย นฐ.3197 กับถนนพุทธมณฑลสาย 6 และบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 7 กับสาย 8

นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังได้พิจารณาศึกษารูปแบบทางแยกต่างระดับเชื่อมต่อโครงข่ายถนนสายหลัก 4 แห่ง ได้แก่ 1. ทางแยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 4 ขยายความกว้างสะพานต่อเชื่อมเดิม 2 ทิศทางจากกรุงเทพฯ เลี้ยวขวาไปศาลายา และจากพุทธมณฑล เลี้ยวขวาไปกรุงเทพฯ ช่วงทางตรงเพิ่มเป็น 8 เมตร ช่วงทางโค้งขยายความกว้างเพิ่มเป็น 10 เมตร พร้อมทางขึ้นลงเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้า 2. ทางแยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 5 ออกแบบสะพานต่อเชื่อมรูปเกือกม้า โดยเริ่มต้นจากโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 5 (บริเวณสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 338) ไปเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ ในลักษณะคล้ายจุดกลับรถรูปเกือกม้า มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ

3. แยกต่างระดับพุทธมณฑลสาย 7 ออกแบบสะพานต่อเชื่อมรูปเกือกม้าจากโครงการสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 338 บนถนนพุทธมณฑลสาย 7 เพื่อไปเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 338 เข้ากรุงเทพฯ 4. ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี มีแนวทางการออกแบบทางแยกต่างระดับให้สามารถเชื่อมต่อการจราจรในระดับพื้นได้ทุกทิศทาง

ส่วนการเชื่อมต่อทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ (ส่วนต่อขยาย) มี 3 ทิศทาง ได้แก่ (1) ก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อจากทางขนานลอยฟ้าฯ (ส่วนต่อขยาย) เลี้ยวขวาไป อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (ถ.เพชรเกษม) (2) ออกแบบสะพานต่อเชื่อมกับทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ (ส่วนต่อขยาย) ในทิศทางเลี้ยวซ้ายจาก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เข้ากรุงเทพฯ และ (3) ออกแบบสะพานเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ (ส่วนต่อขยาย)
กับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาในอนาคต พร้อมออกแบบสะพานรองรับการเชื่อมต่อโดยตรงในทิศทางเลี้ยวขวาจาก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (ถ.เพชรเกษม) เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ

โดยคาดว่าจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 20,000 ล้านบาท เสนอของบปี 2559 ใช้เวลาก่อสรัาง 7 ปี ทั้งนี้จะทยอยทำเป็นช่วงๆ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี ที่จะรองรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ-นครปฐม ต่อไปเมืองทวาย ประเทศเมียนมาร์ รับการเปิดประชาคมอาเซียนสะดวกยิ่งขึ้น แต่เป็นห่วงเรื่องความกว้างของถนนช่องซ้ายสำหรับรถบรรทุกแคบเกินไปจึงต้องขับกินพื้นที่ช่องอื่น รวมถึงสะพานกลับรูปเกือกม้าต้องเพิ่มความสูงให้รถขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้ ขอให้ทางที่ปรึกษารับไปพิจารณาปรับแก้ให้เหมาะสม ซึ่งผู้เข้าสัมมนาส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านโครงการ โดยเสนอให้ดูแลและรักษาพื้นที่สีเขียว อย่าตัดต้นไม้ และขอให้เพิ่มช่องทางรถจักรยานด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น