xs
xsm
sm
md
lg

“คาเธ่ย์ แปซิฟิค” สยายปีกเพิ่มเที่ยวบิน ย้ำไม่หวั่นพิษเศรษฐกิจ-การเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลสลี่ ลู ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบิน “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” และ “ดรากอนแอร์”
ASTVผู้จัดการรายวัน - สายการบินประจำฮ่องกงมั่นใจศักยภาพรอบด้านของไทยพร้อมเป็นฮับในอาเซียน ย้ำผู้โดยสารยังเชื่อมั่นเมืองไทย เพิ่มเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ฮ่องกง จาก 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 63 เที่ยวบิน ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 52% ล่าสุดลงนามร่วมกันกับ “บางกอกแอร์เวย์ส” ใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกันในเส้นทางฮ่องกง-เกาะสมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกระบี่-เชียงใหม่ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ “มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ” หวังเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารนักธุรกิจมากกว่า 60%

นายเลสลี่ ลู ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบิน “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” และ “ดรากอนแอร์” เปิดเผยว่า ในปี 2555 คาเธ่ย์ แปซิฟิค มีผลประกอบการทั้งสิ้น 99,376 ล้านเหรียญฮ่องกง ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก แยกเป็นรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารสามารถทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 14 ของโลก และเป็นอันดับ 7 ของสายการบินที่ทำรายได้จากการขนส่งสินค้าสูงที่สุด โดยเมื่อพิจารณาในแง่ของกำไรสุทธิถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 8 สายการบินที่ทำกำไรสุทธิสูงสุดของโลก ส่วนในช่วงครึ่งปีแรก 2556 สามารถทำกำไรได้แล้วถึง 24 ล้านเหรียญฮ่องกง คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 102% และคาดว่าจะยังคงทำผลกำไรได้ต่อเนื่องอีก 24% ในช่วงครึ่งปีหลัง

คาเธ่ย์ แปซิฟิค มีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สำคัญคือ “มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ” (Great) ใน 3 ส่วนสำคัญคือ เครือข่ายการบินเชื่อมโยงที่แข็งแกร่ง (Great Connectivity) ผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นเลิศ (Great Products and Services) และค่าโดยสารที่คุ้มค่ากับการเดินทางของผู้โดยสาร (Great Fares)

เพิ่ม 104 เที่ยวบินในอเมริกาเหนือ
ปัจจุบัน “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” ให้บริการรับส่งผู้โดยสารไปยัง 179 จุดหมายทั่วโลกใน 41 ประเทศ ครอบคลุมประเทศจีน กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา และอเมริกาเหนือ โดยในปี 2557 มีแผนเพิ่มให้บริการเที่ยวบินจากฮ่องกงไปยัง 6 เมืองสำคัญในทวีปอเมริกาเหนือ รวมถึง ซานฟรานซิสโก แวนคูเวอร์ และโทรอนโต เป็น 104 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 57 จะเพิ่มเที่ยวบินไปกรุงนิวยอร์กเป็น 5 เที่ยวบินต่อวัน นอกจากนี้ยังวางแผนจะให้บริการเที่ยวบินทุกวันบินตรงไปยังเมืองลอส แองเจลิส เป็น 4 เที่ยวบินต่อวันในเดือน มิ.ย. 57 และเพิ่มบริการเที่ยวบินตรงไปยังเมืองชิคาโกอีก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในเดือน ส.ค. 57 โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการขออนุญาตจากรัฐบาล

ส่วน “ดรากอนแอร์” เป็นสายการบินระดับภูมิภาคในเครือคาเธ่ย์ แปซิฟิค กรุ๊ป ให้บริการ 45 จุดหมายใน 14 ประเทศ ครอบคลุมประเทศจีน กลุ่มประเทศเอเชีย และตะวันออกกลาง โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปมีแผนเพิ่มเที่ยวบินเพิ่มเติมไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ในประเทศพม่า เวียดนาม กัมพูชา มัลดีฟส์ และจีน

ใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกับ “บางกอกแอร์เวย์ส”
นายเลสลี่ ลู กล่าวด้วยว่า “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” เป็นสายการบินประจำฮ่องกงที่เปิดให้บริการแก่ผู้โดยสารในประเทศไทยมาเป็นเวลานานถึง 67 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการลงนามร่วมกันกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในการให้บริการเที่ยวบินไปยังกระบี่และเกาะสมุย โดยใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน (Codeshare) ทำให้รหัสเที่ยวบิน “CX” ของ “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” ในปัจจุบันมีอยู่ในตารางการบินประจำวันของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ในเส้นทางฮ่องกง-เกาะสมุย, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกงจาก 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 52-63 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน “ดรากอนแอร์” ซึ่งเป็นสายการบินระดับภูมิภาคในเครือคาเธ่ย์ แปซิฟิค ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างภูเก็ต-ฮ่องกงเป็น 13 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และระหว่างเชียงใหม่-ฮ่องกงเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมเป็นบริการเที่ยวบินจากประเทศไทยทั้งหมด 93 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

“การขยายเที่ยวบินในประเทศไทยครั้งนี้เป็นการกำหนดแผนงานล่วงหน้าเพื่อรองรับกับศักยภาพของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการบินในอาเซียน โดยในส่วนของเชียงใหม่นั้นถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงจากนักท่องเที่ยวฮ่องกงและจีนที่มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจากการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนที่ภูเก็ตแม้ปัจจุบันจะมีสัดส่วนการเดินทางจากผู้โดยสารต่างประเทศเพียง 10% เพราะส่วนใหญ่คือ 90% เป็นการเดินทางในลักษณะภายในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากภูเก็ตมีศักยภาพด้านอื่นๆ สูงมาก ประกอบกับการการเชื่อมโยงเครือข่ายการบินกับบางกอกแอร์เวย์สทั้ง 2 แห่งจึงทำให้มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมาก”

นายเลสลี่ ลู ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ค่อนข้างซบเซามาตั้งแต่ต้นปี 2556 รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินงานของ คาเธ่ย์ แปซิฟิค ทั้งในเชิงประมาณการเดินทางและจำนวนผู้โดยสาร เนื่องจากศักยภาพโดยรวมของประเทศไทยยังคงเป็นที่เชื่อมั่นของชาวต่างชาติเช่นเดิม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของฮ่องกงที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 56 มีจำนวนผู้โดยสารชาวฮ่องกงที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 8% ขณะเดียวกันยังคาดว่าจะมีชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนในปี 2556

เปิดตัวที่นั่ง - ห้องรับรองใหม่
“คาเธ่ย์ แปซิฟิค” และ “ดรากอนแอร์” ยังได้เปิดตัวชั้นที่นั่งธุรกิจใหม่สำหรับการเดินทางในภูมิภาค โดยออกแบบให้มีที่นั่งที่กว้างขึ้นเพื่อมอบความรู้สึกสบายcdjผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังติดตั้งหมอนรองหลังและหมอนรองศีรษะที่สามารถปรับได้ รวมถึงเก้าอี้นั่งที่สามารถปรับได้หลายระดับและที่พักวางเท้าที่กว้างขึ้น โดยกระบวนการติดตั้งชั้นธุรกิจใหม่สำหรับการเดินทางในภูมิภาคมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2557 นอกจากนี้ยังเปิดตัวห้องรับรองใหม่ล่าสุดขนาด 2,567 ตารางเมตรคือ “เดอะ บริดจ์” ซึ่งเป็นห้องรับรองลำดับที่ 6 ของสายการบิน ณ สนามบินนานาชาติฮ่องกง

บินลัดฟ้าสู่ฮ่องกงเพียง 4,320 บาท
นายเลสลี่ ลู กล่าวตอนท้ายว่า ปัจจุบันมี 12 สายการบินที่มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-ฮ่องกง คิดเป็นจำนวน 175 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดย “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” มีส่วนแบ่งสูงสุด 52% จาก 63 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนอีก 40% เป็นนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ในแง่การแข่งขันเราจึงไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลักเพราะผู้โดยสารของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเฉพาะ เราจึงให้ความสำคัญในเรื่องของยุทธศาสตร์การดำเนินงาน Great โดยมีแผนจะขยายสัดส่วนผู้โดยสารนักธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม จึงเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้โดยสารด้วยการจัดให้มีโปรโมชั่นบัตรโดยสารราคาพิเศษ “สมาร์ท เซฟเวอร์” (Smart Saver) สำหรับการเดินทางไปยังฮ่องกงในชั้นประหยัดราคาเริ่มต้นเพียง 4,320 บาท ส่วนเที่ยวบินไปยังอเมริกาเหนือเริ่มต้นเพียง 22,465 บาท

อนึ่ง จากการประกาศรางวัลการสำรวจสายการบินระดับโลกประจำปีโดย “สกายแทรกซ์” ซึ่งเป็นการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารกว่า 18 ล้านคนจากกว่า 160 ประเทศ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สายการบิน “คาเธ่ย์ แปซิฟิค” ได้รับรางวัล “พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดีเด่นระดับโลก” และรางวัล “สายการบินให้บริการข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกดีเด่นระดับโลก” ในขณะที่สายการบิน “ดรากอนแอร์” ได้รับรางวัล “สายการบินภูมิภาคดีเด่นระดับโลก” และรางวัล “สายการบินภูมิภาคดีเด่นในเอเชีย”


กำลังโหลดความคิดเห็น