“กบ.” เคาะราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ 900 บาทต่อตัน หลังจัดทำประชาพิจารณ์เสร็จสิ้น ชง “กอน.” วันที่ 7 พ.ย. ตัดสินใจเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตที่ 1,129.92 บาทต่อตันตามที่ชาวไร่เรียกร้องหรือไม่ “ชาวไร่” ลั่นต้องเพิ่มอีก 230 บาทต่อตันเป็นอย่างต่ำ จี้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณขั้นต่ำหมื่นล้านบาท เอาอย่างข้าว มันฯ ยางพารา
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ที่มีนางอรรชกา ศรีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธาน เปิดเผยว่า วันนี้ (6 พ.ย.) กบ.ได้เห็นชอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ 900 บาทต่อตัน พร้อมกับการทำรายงานความเห็นของฝ่ายโรงงานและชาวไร่อ้อยหลังจากที่ได้เปิดให้ทำการประชาพิจารณ์ราคาอ้อยดังกล่าวแล้วในวันเดียวกัน โดยจะเสนอผลการประชุมดังกล่าวให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณาในวันที่ 7 พ.ย. เพื่อประกาศราคาอ้อยขั้นต้นอย่างเป็นทางการก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
“กบ.ได้เสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริง ส่วนการช่วยเหลือราคาอ้อยตามที่ชาวไร่อ้อยให้ได้คุ้มกับต้นทุนที่ได้มีการคำนวณจากฝ่ายราชการที่ 1,129.92 บาทต่อตันนั้น กบ.จะให้ความเห็นเพียงมีความจำเป็นจะต้องหาเงินช่วยแต่รายละเอียดคงจะอยู่ที่ กอน.” แหล่งข่าวกล่าว
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยยอมรับหลักการราคาอ้อยที่ 900 บาทต่อตัน แต่ที่ผ่านมาการช่วยเหลือราคาอ้อยให้คุ้มกับต้นทุนการผลิตเป็นเพียงการให้แหล่งเงินกู้แก่ชาวไร่ก็คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดังนั้นครั้งนี้ชาวไร่อ้อยต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านงบประมาณเช่นเดียวกับพืชเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด เนื่องจากรัฐบาลเองส่งเสริมให้จัดโซนนิ่งการปลูกอ้อยด้วยการส่งเสริมให้นาข้าวมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ควรจะต้องดูแลราคาไม่ให้ต่ำเกินกว่าต้นทุน
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยได้แต่กู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อยพร้อมกับการจ่ายดอกเบี้ย แต่ข้าวเจ๊งเป็นแสนๆ ล้านบาทรัฐบาลยังช่วยได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าราคาอ้อยขั้นต้นครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เราจะขอให้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณราวหมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อย 900 บาทต่อตันหากจะให้คุ้มทุนการผลิตที่ 1,129.92 บาทต่อตันจะต้องกู้เงินมาเพิ่มราว 230 บาทต่อตัน หรือคิดที่อ้อย 101 ล้านตันก็ราว 2.3 หมื่นล้านบาท” นายธีระชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม เหตุที่ชาวไร่อ้อยต้องขอให้รัฐช่วยเหลือด้านงบประมาณเนื่องจากฐานะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) มีรายได้เพียง 1.5 หมื่นล้านบาทในการนำไปชำระหนี้ศักยภาพการกู้เงินจากได้เพียง 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นส่วนที่เหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาทรัฐบาลก็น่าจะสนับสนุนได้ เพราะหากเทียบกับพืชอื่นถือว่าต่ำมาก แต่หากจะให้กู้ทั้งหมดรัฐบาลจะต้องลดดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ลงมาจากปัจจุบันที่คิดสูงถึง 4.5%