xs
xsm
sm
md
lg

จับตาชาวไร่อ้อยฮึ่ม! อ้างตัวอย่างข้าวรัฐต้องหาแหล่งเงินกู้ช่วยหลังราคาดิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 ต่ำเฉลี่ยเพียง 820-830 บาทต่อตันรอ “กอน.” เคาะประกาศทางการ ต.ค.นี้ ชาวไร่ส่งสัญญาณต้นทุน 1,190 บาทต่อตันทำให้แนวโน้มกองทุนอ้อยฯ ต้องกู้ ธ.ก.ส.เช่นอดีตที่ผ่านมาราว 4.4 หมื่นล้านบาท ชาวไร่ขู่ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะไม่ช่วยเหตุไม่ได้ใช้งบประมาณเหมือนข้าว ยางพารา จวก “กอน.” ล่าช้าทั้งที่ปัญหากำลังรออยู่ข้างหน้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ที่จะประกาศในช่วง ต.ค.นี้จะมีราคาเฉลี่ยเพียง 820-830 บาทต่อตันเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบที่นำมาคำนวณเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 17.5 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานจะมีการพิจารณาตัวเลขอีกครั้งก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวยอมรับว่าค่อนข้างต่ำและมีความเป็นไปได้สูงที่ชาวไร่อ้อยจะเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนเช่นที่ผ่านมาที่รัฐให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อเพิ่มค่าอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิต ซึ่งหากพิจารณาต้นทุนที่ชาวไร่อ้อยได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1,190 บาทต่อตันนั้น ประเมินเบื้องต้นกองทุนอ้อยฯ จะต้องกู้ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท จากผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 110 ล้านตัน

“หากยึดต้นทุนผลิตอ้อยของชาวไร่ที่เสนอตัวเลขมาแบบคุ้มทุนก็คือ 1,200 บาทต่อตันจะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มถึงเฉลี่ย 400 บาทต่อตัน แต่หากมาพิจารณารายได้กองทุนอ้อยฯ ที่หลักๆ มาจากการเก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จะมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือเฉลี่ยก็จะช่วยไม่ถึง 200 บาทต่อตัน ซึ่งก็คงจะต้องมาดูท่าทีชาวไร่กับรัฐว่าจะเดินไปทางใด” แหล่งข่าวกล่าว

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 คงจะต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี โดยเบื้องต้นคาดว่าน่าจะอยู่ระดับ 830 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งคงจะต้องรอให้ กอน.ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากนั้นชาวไร่อ้อยคงจะต้องมากำหนดท่าทีว่าจะขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้อย่างไร เนื่องจากต้องยอมรับว่าราคาดังกล่าวไม่คุ้มทุนการผลิตที่อยู่ที่ 1,190 บาทต่อตัน

“ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐสนับสนุนแค่แหล่งเงินกู้เท่านั้นไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณใดๆ เหมือนพืชอื่นๆ เช่นข้าว โดยมีการนำเงินรายได้จากราคาน้ำตาลทรายที่ขึ้น 5 บาทต่อ กก.ก่อนหน้านี้มาใช้หนี้รวมดอกเบี้ย รัฐไม่ได้สูญเสียอะไร แต่ก็ยอมรับว่าการกู้ครั้งนี้อาจเป็นเงินค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่กองทุนอ้อยมีอยู่ และไม่แน่ใจว่า ธ.ก.ส.ยังมีสภาพคล่องดีอยู่หรือไม่ ทั้งหมดจะต้องมาหารือกัน” นายชัยวัฒน์กล่าว

แหล่งข่าวจากสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ กอน.ยังไม่มีท่าทีที่จะเร่งสรุปราคาอ้อยขั้นต้นแต่อย่างใดทั้งที่ใกล้เวลาเข้ามาแล้ว โดยเห็นว่าปัญหารออยู่ข้างหน้าที่ราคาอ้อยตกต่ำหากกระทรวงอุตสาหกรรมยังคงทำงานล่าช้าเช่นที่ผ่านมาจนชาวไร่ได้รับเงินค่าอ้อยล่าช้าเหมือนอดีตครั้งนี้ชาวไร่อ้อยจะไม่ยอมแล้ว โดยไม่อยากจะขู่แต่ในเมื่อรัฐบาลยังสามารถใช้เงินมหาศาลจำนำข้าวได้ ช่วยยางพาราได้ แล้วอ้อยไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ช่วยเหลือเพราะแค่ขอแหล่งเงินกู้เท่านั้นไม่ใช่เงินงบประมาณแบบสูญเปล่าแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น