xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานเร่งรับวิกฤตก๊าซฯ พม่าหยุดสิ้นปี-นำเข้า LNG พุ่ง จี้สรุปที่ทำคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุเทพ” ปลัดกระทรวงพลังงานชูแผนมั่นคงพลังงานรับมือวิกฤตทั้งเร่งด่วนกรณีท่อก๊าซฯ พม่าหยุดซ่อมสิ้นปีนี้ต้องไร้ไฟดับซ้ำรอย 14 จว.ภาคใต้เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมมอบหมาย ปตท.เร่งศึกษาหาที่และทำ EHIA สร้างคลัง LNG เฟส 3 รับมือเร่งด่วนตามแผนพีดีพีที่ต้องนำเข้าถึงสิ้นปี 73 สูงถึง 23 ล้านตัน
 

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงถึงภารกิจหลังการเข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานว่า นโยบายจะเน้นให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าหลักถึง 70% โดยแผนระยะสั้นเร่งด่วนคือการดูแลการหยุดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติแหล่งเยตากุนในสหภาพเมียนมาร์ระหว่าง 25 ธันวาคม 56-8 มกราคม 57 ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบให้เกิดไฟฟ้าดับซ้ำรอยไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ 21 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา

“ขณะนี้ทุกฝ่ายได้ร่วมหารือเพื่อรองรับการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ แล้ว 2 ครั้งก็จะมีแผนงานรายละเอียดต่างๆ ที่จะรองรับได้อย่างแน่นอน และก็จะต้องเร่งดูว่าจะซ่อมช่วงไหนอีกในปี 2557 ซึ่งจากการสอบถามว่าเหตุใดที่ผ่านมาเมียนมาร์จึงหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ ช่วง เม.ย.ที่เป็นช่วงไทยใช้ไฟสูง ก็ได้รับการชี้แจงว่าช่วงนั้นจะเป็นช่วงทะเลสงบที่ทำให้การซ่อมเป็นไปได้รวดเร็วสุด” นายสุเทพกล่าว

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ บมจ.ปตท.ไปเร่งสรุปหาพื้นที่สร้างคลังนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยให้ศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปพร้อมกันเพื่อรองรับการนำเข้า LNG เพิ่มอีก 5 ล้านตันรวมเป็น 15 ล้านตันซึ่ง ปตท.แจ้งว่าต้องการสร้างที่นิคมฯ มาบตาพุดเดิมเพื่อที่จะทำให้การขนถ่ายเชื่อมโยงกันและก่อสร้างได้เร็วขึ้น แต่กองทัพเรือเป็นห่วงความมั่นคงเพราะการขนถ่าย LNG อนาคตจะใช้เรือจำนวนมากซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายมหาศาลได้หากมีการก่อการร้ายขึ้น

สำหรับการนำเข้า LNG ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3 จะต้องนำเข้าเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2557 สูงถึง 23 ล้านตัน ซึ่งการก่อสร้างคลังขณะนี้เพิ่งเริ่มจะเข้าสู่เฟส 2 หรือ 10 ล้านตันเท่านั้นหรือลงทุนรวมแล้ว 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งวางแผนรับมือเพื่อให้การจัดหาที่เพียงพอ โดยยอมรับว่าการลงทุนสร้างคลังต้องใช้เงินลงทุนสูงแล้วยังต้องจัดหากองเรือในการขนถ่ายไม่น้อยกว่า 50 ลำ ซึ่งเรือ 1 ลำมีมูลค่าสูงถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ และการผลิตมีเพียง 5 ประเทศทั่วโลก การสั่งจองใช้เวลา 3-4 ปี ส่วนการจัดหา LPG ระยะยาวก็มีสัญญากับกาตาร์แค่ 2 ล้านตันเท่านั้น

“เราก็ต้องมามองว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการใช้ก๊าซฯ ซึ่งตามแผนพีดีพีใหม่ (2013)พยายามปรับอยู่ ซึ่งก็คงจะต้องมองเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซื้อไฟจากเพื่อนบ้าน พลังงานทดแทน เช่น โซลาร์เซลล์บนหลังคา หญ้าเนเปียร์” นายสุเทพกล่าว

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่จะต้องดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการประหยัดพลังงาน การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC รวมถึงการทำราคาน้ำมันหน้าคลังให้เป็นราคาเดียวทั่วประเทศเพื่อให้ราคาน้ำมันต่างจังหวัดใกล้เคียงกับ กทม.และปริมณฑล จากขณะนี้ที่สูงเพราะค่าขนส่งไกลโดยการวางยุทธศาสตร์ท่อน้ำมันและคลังไปยังภาคเหนือสิ้นสุดที่พิษณุโลก หรือลำปาง และอีสาน สิ้นสุดที่ขอนแก่น ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานจะได้มีการศึกษาแนวทางการลงทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น