xs
xsm
sm
md
lg

อีก 6 เดือนสรุปตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินโคราช เล็งหาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ จูงใจนักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” คาดอีก 6 เดือนสรุปโรดแมปโครงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานนครราชสีมา เร่งการบินไทยศึกษาแผนธุรกิจและแนวโน้มตลาดการบินทั้งในภูมิภาคและของโลกในเดือน ธ.ค.นี้เพื่อวางแผนผลิตบุคลากรรองรับได้เพียงพอ ส่วนบีโอไอศึกษาโมเดลการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่เพื่อจูงใจ คาดปี 57 เปิดให้ลงทุนได้

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานนครราชสีมาวานนี้ (30 ก.ย.) ว่า คณะอนุกรรมการศึกษาแผนธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยานและโครงการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานคณะฯ รายงานว่า ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในประเด็นต่างๆ โดยจะสรุปผลการศึกษาในเดือนธันวาคม 2556 ส่วนอนุกรรมการจัดทำแผนด้านการผลิตและพัฒนา/ส่งเสริมศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เป็นประธาน มีหน้าที่ในการเตรียมผลิตบุคลากรด้านการบินเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนของการศึกษาแผนธุรกิจก่อน

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนนั้น คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาด้านสิทธิพิเศษที่มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นประธานอยู่ระหว่างศึกษาโมเดลในการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยจะศึกษาข้อมูลในการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงสิงคโปร์ เกาหลี จีน

“ขณะนี้ภาพของโรดแมปการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินโคราชยังไม่ชัดเจน เพราะต้องเอาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 ชุดมารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยคาดว่าภายใน 6 เดือนจะมีความชัดเจน เพราะการศึกษาจะแล้วเสร็จทั้งหมดซึ่งจะทำให้เห็นว่าแนวโน้มการพัฒนาจะไปในทิศทางใด รวมถึงจะมีความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ตั้ง จำนวนของบุคลากรในแต่ละด้านที่ต้องผลิตเพื่อสนับสนุนแผนธุรกิจ และคาดว่าจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนได้ในปลายปี 2557” นายวรเดชกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมอากาศยานทั้งประเทศ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับงบประมาณ 75 ล้านบาทในการศึกษาทิศทางและความต้องการในอุตสาหกรรมอากาศยานของภูมิภาคและของโลก ซึ่งจะเป็นแผนใหญ่ที่จะใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของประเทศทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น