กรมธุรกิจพลังงานเผยไทยนำเข้าน้ำมัน ส.ค. 56 มูลค่า 1.08 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบปี 2556 จากราคาตลาดโลกพุ่ง ขณะที่การใช้เดือน ส.ค.ลดลงจากเดือน ก.ค. โดยเฉพาะดีเซลที่เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจและเข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่เบนซินการใช้ยังสูงตามปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า การนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมเดือน ส.ค. 56 มีปริมาณทั้งสิ้น 4,774 ล้านลิตร หรือ 1,043,535 บาร์เรล/วัน, รวมมูลค่าทั้งสิ้น 108,208 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่านำเข้าสูงสุดในรอบปี 2556 เนื่องจากระดับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีปริมาณเพิ่มขึ้น 21.6% มูลค่าเพิ่มขึ้น 22.6% และส่งผลให้การนำเข้ารวม 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 56) ปริมาณ 35,400 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ารวม 745,860 ล้านบาท
สำหรับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 4,140 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 133.6 ล้านลิตร หรือ 840,091 บาร์เรล/วัน โดยกลุ่มน้ำมันดีเซลมีความต้องการใช้สูงสุดวันละ 52.5 ล้านลิตร หรือ 39.3% รองลงมา ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) วันละ 20.0 ล้านกิโลกรัม หรือ 27.7% กลุ่มน้ำมันเบนซินวันละ 23.1 ล้านลิตร หรือ 17.3% กลุ่มน้ำมันอากาศยานวันละ 14.8 ล้านลิตร หรือ 11.1% น้ำมันเตาวันละ 6.0 ล้านลิตร หรือ 4.5% น้ำมันอื่นๆ วันละ 0.03 ล้านลิตร หรือ 0.02% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาวันละ 1.3 ล้านลิตร หรือ 0.9% โดยน้ำมันที่มีความต้องการใช้ลดลง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลง 4.6%, ก๊าซปิโตรเลียมเหลวลดลง 0.05%, ส่วนกลุ่มน้ำมันอากาศยานมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 3.2% กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.4% ต้องการใช้ NGV เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.3%
“การใช้ดีเซลที่ลดลงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้การขนส่งมีไม่มากนักการใช้จึงลดตามฤดูกาล ส่วนกลุ่มเบนซินที่มีการใช้เพิ่มขึ้นพบว่ายอดการใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 โตขึ้นมาก โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ถึง 6.1% เช่นเดียวกับแก๊สโซฮอล์ 91 และอี 85 ที่การใช้ยังคงสูงขึ้นเนื่องจากส่วนหนึ่งปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นและคนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ที่มีราคาถูก” แหล่งข่าวกล่าว
นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.)กล่าวว่า การใช้เอทานอลสูงขึ้นมาเฉลี่ยวันละ 2.76 ล้านลิตร เนื่องจากการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอี 20 และอี 85 อย่างไรก็ตาม จากการติดตามยืนยันว่าปริมาณเอทานอลปลายปีนี้จะไม่เกิดภาวะตึงตัวเนื่องจากขณะนี้มีการนำมันสำปะหลังมาช่วยเสริมการผลิตจากโมลาส (กากน้ำตาล) ที่เริ่มทยอยหมดลง และเมื่อถึงเดือน พ.ย.ก็คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบก็จะได้มีโมลาสเข้ามาในระบบตามปกติ
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) กล่าวว่า การใช้แอลพีจีภาคขนส่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีราคาถูกกว่า แต่การปรับขึ้นราคาภาคครัวเรือนที่เริ่มนำร่อง 1 ก.ย. 56 ไปแล้ว 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมจะมีส่วนสำคัญให้ราคาเริ่มไม่ห่างกันมากซึ่งก็จะลดแรงจูงใจลักลอบการใช้ข้ามประเภท อย่างไรก็ตาม ราคาแอลพีจีครัวเรือนจะขึ้นอีกในเดือน ต.ค.นี้ รวมกับ ก.ย.ก็จะเป็น 1 บาทต่อ กก. ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิ์ใช้แอลพีจีราคาเดิม 7.7 ล้านรายควรจะเร่งมาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ เพราะจากนี้ไปแต่ละเดือนราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น และเมื่อครบเป้าหมายที่รัฐจะปรับ 6 บาทต่อ กก.นั่นหมายถึงถังแอลพีจี 15 กก.จะมีราคาต่างกันถึง 100 บาท