“พาณิชย์” เอาจริง ศึกษาออกกฎหมายเอาผิดเจ้าของอาคาร สถานที่ ปล่อยผู้เช่าขายของปลอม คาดสรุปได้เดือน ก.ย.นี้ เล็งดูถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปล่อยให้เปิดเว็บขายของปลอมด้วย “ปัจฉิมา” จับตาเฟซบุ๊กขายสินค้าละเมิดเกลื่อน สั่งฝ่ายกฎหมายไปดูช่องทางป้องกัน เหตุกฎหมายตามเทคโนโลยีไม่ทัน
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.เอาผิดเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่มีการขายสินค้าละเมิดในพื้นที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานต่างๆ รวมถึงสถานที่จัดให้มีการค้าขายสินค้า และกำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2556 น่าจะเห็นเป็นรูปร่างและสรุปแนวทางการยกร่างกฎหมายได้
ทั้งนี้ หลักของกฎหมายจะกำหนดให้เจ้าของสถานที่ต้องรับผิดชอบหากปล่อยปละให้มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ เพื่อให้เจ้าของสถานที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าละเมิด และช่วยป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าละเมิด ซึ่งจะช่วยให้การจำหน่ายสินค้าละเมิดทำได้ยากขึ้น และมีโอกาสที่จะลดน้อยลงได้
“ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการประสานงานให้มีการจับกุมผู้ที่จำหน่ายสินค้าละเมิดอย่างเต็มที่ แต่พอจับเสร็จก็กลับมาขายเหมือนเดิม เพราะเจ้าของสถานที่ไม่เคยเข้าไปดูแล แต่ถ้ามีกฎหมายเอาผิดเชื่อว่าเจ้าของสถานที่จะให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลมากขึ้น”
นอกจากนี้ กรมฯ จะหาทางป้องกันการจำหน่ายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ที่ขณะนี้มีการเปิดเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าละเมิดกันอย่างแพร่หลาย โดยจะประสานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จะต้องช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการเช่าพื้นที่เว็บไซต์เพื่อเปิดจำหน่ายสินค้าละเมิด
นางปัจฉิมากล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังจับตาการจำหน่ายสินค้าละเมิดทางเฟซบุ๊ก หลังจากที่มีการตรวจสอบพบว่าเริ่มมีกลุ่มบุคคลและผู้ประกอบการหลายรายได้ใช้ช่องทางเฟซบุ๊กในการจำหน่ายสินค้าละเมิด โดยมีการประกาศขายกันอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งซีดีเพลง ภาพยนตร์ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ทั้งกระเป๋า นาฬิกา แว่นตา เสื้อผ้า
โดยได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปดูว่าจะหาทางป้องกันการละเมิดทางช่องทางนี้ได้อย่างไร
“อย่างยูทิวบ์ ถ้ามีการโพสต์คลิปที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังยูทิวบ์เพื่อให้ลบคลิปได้ แต่เฟซบุ๊ก กรมฯ กำลังดูว่าจะมีช่องทางในการแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่ไปดู เพราะการขายสินค้าละเมิดทางเฟซบุ๊กเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เราต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน เพราะกฎหมายที่มีอยู่ก็จัดการไม่ถึง แต่กรมฯ เชื่อว่าในที่สุดจะหาทางแก้ไขและป้องกันได้” นางปัจฉิมากล่าว
ปัจจุบันการจำหน่ายสินค้าละเมิดในเฟซบุ๊กได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยมีทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล และผู้ประกอบการที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายเปิดเพจจำหน่ายสินค้าละเมิด โดยลงโฆษณาในเฟซบุ๊กเพื่อให้เพจของตัวเองเข้าถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก
สำหรับสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วง 5 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-พ.ค.) สามารถจับกุมได้ 5.191 คดี เพิ่มขึ้น 9.4% ของกลาง 1,574,982 ชิ้น ลดลง 59.09% โดยแยกเป็นการจับกุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,841 คดี เพิ่มขึ้น 7.91% ของกลาง 786,742 ชิ้น ลดลง 78.49% กรมสอบสวนคดีพิเศษ 41 คดี เพิ่มขึ้น 241.67% ของกลาง 420,499 ชิ้น เพิ่มขึ้น 576.55% และกรมศุลกากร 309 คดี เพิ่มขึ้น 25.10% ของกลาง 367,741 ชิ้น เพิ่มขึ้น 181.74%