xs
xsm
sm
md
lg

คณะทำงานแจงผลสอบน้ำมันรั่ว 14ส.ค.หลังล่าสุดรายละเอียดยังไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันที่ 8 ก.ค.

“พงษ์ศักดิ์” เผยผลตรวจสอบหาสาเหตุทั่วน้ำมันดิบรั่วของ PTTGC ของคณะทำงานที่มีคุณหญิงทองทิพ เป็นประธานเลื่อนไปเป็นวันที่ 14 ส.ค.เหตุยังขาดรายละเอียดบางประเด็น พร้อมถกผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆ กว่า 50 บริษัทวางมาตรฐานความปลอดภัยให้เข้มข้นขึ้นป้องอุบัติเหตุในอนาคต ทั้งการขนส่งทางบกและทะเล สั่งให้ตรวจสอบท่อก๊าซฯเส้นที่ 1 ใหม่เหตุใช้งานมา 30 ปีเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น
 

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ผลตรวจสอบหาสาเหตุท่อน้ำมันดิบรั่วของบมจ.ปตท.โกลบอล เคมีคอล (PTTGC) ที่เกาะเสม็ด ที่มีคุณหญิงทองพิพ รัตนะรัต เป็นประธานจะมีการเปิดเผยผลตรวจสอบในวันที่ 14 ส.ค.นี้เนื่องจากยังขาดรายละเอียดบางประเด็นซึ่งตนเองไม่ได้สอบถามเพราะต้องการให้การทำงานเป็นไปอย่างอิสระโดยไม่มีการไปแทรกแซง

“คณะทำงานขอชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดกับสาธารณชนในพุธหน้าผมเองก็คงจะต้องไปนั่งฟังด้วย ส่วนรายละเอียดที่ยังขาดนั้นผมเองไม่ได้สอบถามว่าเป็นประเด็นใดเพราะไม่ต้องการไปแทรกแซงการทำงาน”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตามตนได้เรียกผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและกิจการที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศทั้งผู้ค้า ผู้ขนส่ง และโรงกลั่นกว่า 50 บริษัทเข้าร่วมการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย มาตรการป้องกันอุบัติภัย มาตรการเตือนภัย มาตรการระงับอุบัติภัยและมาตรการการจัดการให้เกิดความปลอดภัย โดยต้องการให้เกิดการจัดทำเป็นคู่มือในทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน โดยให้ขอให้ทุกฝ่ายไปร่วมจัดทำกลับมารายงานภายใน 2 สัปดาห์

ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางทะเลใช้ท่อเป็นอุปกรณ์ลำเลียง และมีอุปกรณ์ต่างๆเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดแต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ PTTGC จึงมอบหมายให้ไปดูจำนวนเรือตครวจตรารอบทุ่นน้ำมัน รวมถึงการเพิ่มบุคคลากร บูม(ทุ่นลอยป้องกันการแพร่กระจายบนผิวน้ำ) และสารเคมีที่ใช้ขจัดคราบน้ำมัน ให้มีปริมาณที่เหมาะสมและเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉิน ส่วนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลมี 4 ท่อนั้นแนวทางการดูแลก็เป็นที่น่าพอใจแต่ในส่วนของท่อเส้นที่ 1 ที่มีอายุการใช้งานมาแล้วถึง 30 ปีขอให้มีการทบทวนในการสำรวจจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญใหม่อีกครั้งว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใดเพื่อความมั่นคงในระยะยาว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น