xs
xsm
sm
md
lg

“124 แมนเนจเม้นท์ฯ” ดันธุรกิจไทยใช้แนวคิดดำเนินธุรกิจยั่งยืนรุกเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท 124 แมนเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด
เผยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ต้องการจดทะเบียนต้องจัดทำแนวทาง SD แยกต่างหาก ระบุเป็นมาตรฐานสำคัญระดับโลกที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องตระหนัก ขณะที่ไทยยังเกาะกลุ่มฟิลิปปินส์-อินโดฯ ตามหลังมาเลย์-สิงคโปร์ถึง 3 เท่าตัว พร้อมเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการรับรู้ในวงกว้าง หวังลูกค้า 20 รายในปี 56

นายทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท 124 แมนเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่งเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ให้บริการด้านงานที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์รายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทยที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี และบริษัท เดอะ ไนล์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และ Executive Coaching

บริษัทมีแนวทางการดำเนินธุรกิจทางด้านให้บริการพัฒนาและบริหารธุรกิจองค์กรและบุคลากรภายใต้แนวคิดการดำเนินกิจการแบบยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เพื่อเป็นการเตรียมตัวองค์กรธุรกิจต่างๆ เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้พบว่าประเทศไทยยังมีพัฒนาการด้านนี้ในระดับเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีพัฒนาการนำหน้ากว่า 3 เท่าตัว

ด้วยเหตุนี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงร่วมกันกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ต้องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องจัดทำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไว้ในรายงานประจำปี หรือแยกไว้เป็นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการดูแลและเอาใจใส่บุคคล 4 กลุ่มหลักอย่างจริงจัง คือ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ และชุมชน

“ปัจจุบันการแข่งขันในการดำเนินธุรกิจทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการต่างมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด ทั้งยังมีการใช้กลยุทธ์ทางการค้าเร่งเร้าให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์จนเกินความจำเป็น โดยมีการนำเทคโนโลยีและทรัพยากรต่างๆ มาใช้อย่างมากมาย จนส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงทำให้องค์กรกำกับดูแลหลายแห่งไม่อาจอยู่นิ่งเฉยเพื่อรอคอยให้ภาคธุรกิจยินยอมสละผลกำไรในอนาคตมาใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างจริงจัง จึงทำให้มีแนวคิดด้าน SD เกิดขึ้น โดยผู้ประกอบกิจการที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ ลูกค้า ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและความรับผิดชอบว่าหากระบบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมเสียหาย องค์กรธุรกิจต่างๆ ก็มิอาจจะหยัดยืนอยู่ในสังคมได้เช่นกัน

“แนวคิด SD คือมาตรฐานระดับโลกที่ทุกองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญ โดยอาจกล่าวว่าในประเทศไทยมีองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ผ่านมาตรฐานเพียงประมาณ 50% เท่านั้น ในขณะที่ลูกค้าของบริษัทปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจให้กระจายไปในวงกว้างมากขึ้น โดยกำหนดว่าภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 จะมีลูกค้ามาใช้บริการประมาณ 20 ราย”

สำหรับการให้บริการของบริษัทประกอบด้วย 2 รูปแบบ คือ การจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับกิจการตามมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) คือการเตรียมการ (Prepare) การเชื่อมร้อย (Connect) การกำหนด (Define) การเฝ้าสังเกต (Monitor) และการจัดทำรายงาน (Report) ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การสร้างและพัฒนาระบบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SD in Action) ประกอบด้วย การสำรวจ (Explore) การวิเคราะห์ (Analysis) การกำหนดทางเลือก (Alternative) การลงมือปฏิบัติ (Implementation) และการติดตามประเมินผล (Follow up)

“เราจะร่วมกับลูกค้าในการกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาและติดตามผลจนเป็นที่พอใจของลูกค้า โดยมีเป้าหมายผลสำเร็จของงานคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งจะมีผลให้ธุรกิจมีคุณค่าที่สูงขึ้นทั้งในเชิงที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น ต้นทุนที่ลดลง ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงชื่อเสียงที่มากขึ้น ตลอดจนการเป็นตัวเลือกในการเข้างานของแรงงานจบใหม่ เป็นต้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น