xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวแผนแม่บท 11 สะพานข้ามเจ้าพระยา 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบแผนแม่บทสะพานข้ามเจ้าพระยา 11 แห่ง วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท รองรับปริมาณรถยนต์ข้ามสองฝั่ง คาดปี 64 เพิ่มอีก 4.5 แสนเที่ยว/วัน จากปัจจุบัน 3 ล้านเที่ยว/วัน “ชัชชาติ” เผยแต่ละโครงการต้องศึกษารายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเสนอ ครม.ขออนุมัติก่อสร้างเป็นรายโครงการอีกครั้ง ขณะที่สะพานเกียกกายเร่งด่วนสุด วางงบ 9.1 พันล้านบาทรับรัฐสภาแห่งใหม่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 มีมติรับทราบแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วง 20 ปี (56-74) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จำนวน 11 โครงการ วงเงินรวม 50,530 ล้านบาท ซึ่งในการดำเนินแต่ละโครงการหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบจะต้องศึกษารายละเอียด และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเป็นรายโครงการอีกครั้ง โดยหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบสะพาน 7 แห่ง ส่วนอีก 4 แห่งนั้นอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วง 20 ปี (2556-2574) จำนวน 11 โครงการ วงเงินรวม 50,530 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่ถูกบรรจุในแผนการดำเนินงานระยะ 10 ปีแรก เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเร่งก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เพิ่มเติมรองรับความต้องการเดินทางข้ามสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนรถยนต์ที่ต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3 ล้านเที่ยวต่อวันอีกประมาณ 450,000 เที่ยวต่อวัน

โดยแผนแม่บทใน 10 ปีแรก (55-64) มีจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 48,950 ล้านบาท คือ โครงการสะพานเกียกกาย วงเงิน 9,100 ล้านบาท (รวมโครงสร้างทางยกระดับ 5.9 กิโลเมตร) มีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งเป็นโครงการที่ควรเร่งดำเนินงานโดยเร็ว เนื่องจากโครงการมีความพร้อมมากที่สุดและยังรองรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะเปิดให้บริการในปี 59 ด้วย, โครงการสะพานพระราม 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท มี กทม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ, โครงการสะพานสมุทรปราการ วงเงิน 19,437 ล้านบาท (รวมถนนโครงข่าย 37 กิโลเมตร) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

รวมทั้งโครงการสะพานปทุมธานี 3 วงเงิน 1,820 ล้านบาท (รวมโครงข่ายถนน 10.5กิโลเมตร) กรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ, โครงการสะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม วงเงิน 4,764 ล้านบาท กทม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ, โครงการสะพานสามโคก วงเงิน 5,192 ล้านบาท (รวมถนนโครงข่าย 9.4 กิโลเมตร) ทล.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ, โครงการสะพานท่าน้ำนนท์ วงเงิน 800 ล้านบาท ทช.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และโครงการสะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง วงเงิน 837 ล้านบาท กทม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

ส่วนแผนการดำเนินงานระยะ 10 ปีหลัง (65-74) คือโครงการสร้างสะพานสนามบินน้ำ วงเงินดำเนินการ 1,580 ล้านบาท (รวมถนนโครงข่าย 4.5 กิโลเมตร) มี ทช.เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่โครงการสะพานบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการนั้น ปริมาณการจราจรที่มาใช้สะพานจะมีเป็นจำนวนมากและมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่ไม่ควรจัดให้อยู่ในแผนการดำเนินงานเนื่องจากมีความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่ำเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง โดยระยะเวลาการเริ่มดำเนินโครงการทั้งหมดสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความพร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น