xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวสู่ยุคใหม่ “ประเมินมูลค่าแบรนด์ไทย” เพื่อก้าวไกลสู่สากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับตั้งแต่ “อุดมศรี นาทีกาญจนลาภ” แห่ง บริษัท ยูเค แวลูเอชั่น แอนด์ เอเจนซี่ จำกัด ใช้เวลาบุกเบิกบริการทางด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) และทรัพย์สินไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้เกิดข้อค้นพบว่า เจ้าของกิจการที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า (แบรนด์) ที่มีชื่อเสียง (Well-Known Marks) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่มีความต้องการทราบว่ามูลค่าเครื่องหมายการค้าของตนมี “มูลค่ายุติธรรม” เป็นเท่าใด เพื่อนำไปประกอบวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น

- เพื่อทดสอบการด้อยค่า (ตามมาตรฐานการบัญชี)

- เพื่อประกอบค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (Licensing Fee)

- เพื่อประกอบการร่วมทุน

- เพื่อประกอบการซื้อขายแลกเปลี่ยนมือ

- เพื่อประกอบการฟ้องร้องค่าเสียหายจากการถูกละเมิดเครื่องหมายการค้า ณ ศาลทรัพย์สินทางปัญญา

- ฯลฯ

แต่ที่สำคัญคือผู้ประกอบการหลายๆ รายต้องการเตรียมการณ์เพื่อก้าวเข้าสู่การค้าข้ามชาติในยุค AEC

มูลค่าของเครื่องหมายการค้าที่ใช้กำกับสินค้า หรือบริการจะแตกต่างไปตามประเภทธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม ส่วนแบ่งการตลาด ผลกำไรจากผลการดำเนินงาน ความมีเสถียรภาพของเครื่องหมายการค้า การปกป้องเครื่องหมายการค้าจากการลอกเลียนแบบ หรือการมีกิจกรรมทางการตลาดอย่างสม่ำเสมอในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครื่องหมายการค้ามีคุณค่ามั่นคงตลอดไป (Brand Equity) ดังตัวอย่างเครื่องหมายการค้ารายสำคัญของไทย ดังต่อไปนี้

ตัวอย่างแบรนด์ Café’ Amazon ซึ่งใช้กำกับร้านกาแฟที่จำหน่ายกาแฟสดคั่วบดภายในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง ด้วยรสชาติกาแฟ ราคา บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริการที่มาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ Café’ Amazon เป็นแบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีและมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี ส่งผลให้คุณค่าของเครื่องหมายการค้า หรือตราสินค้า (Brand Equity) และมูลค่ายุติธรรมของเครื่องหมายการค้า หรือตราสินค้า (Brand Value) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่ต้องการติดต่อทาบทามให้ไปร่วมลงทุนในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคใกล้เคียงในช่วงเวลาที่กำลังจะเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

อีกตัวอย่างหนึ่งคือแบรนด์ Black Canyon ซึ่งใช้กำกับชื่อร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด สถานีบริการน้ำมัน สนามบินพาณิชย์ และในอีก 8 ประเทศในแถบเอเชีย ส่งผลให้มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศและทำให้มีรายได้จากการขอใช้เครื่องหมายการค้าของจำนวนร้านแฟรนไชส์ (Licensing Fee) เป็นจำนวนค่อนข้างสูง นับเป็นตัวอย่างที่ดีของตราสินค้าไทยในการสร้างคุณค่าของเครื่องหมาย หรือตราสินค้า จนทำให้ทราบได้ว่ามีมูลค่าไม่น้อยและเป็นแบรนด์ไทยที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

ตัวอย่างสุดท้ายที่น่าสนใจคือแบรนด์ Samchai ซึ่งใช้กำกับท่อโลหะที่มีชื่อเสียงมานานในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จนถูกมิจฉาชีพลอกเลียนเครื่องหมายการค้าและส่งผลให้มียอดขายลดลง แต่ต่อมาเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีละเมิดเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ผู้ละเมิดชดใช้ “ค่าขาดรายได้” จึงถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ได้มีการประเมิน “ค่าเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ” (Economic Damages) ให้แก่เจ้าของแบรนด์ดังกล่าวเพื่อเป็นคดีตัวอย่างต่อไปในอนาคต

นอกจากตัวอย่างข้างต้น ยังมีแบรนด์อีกหลายรายที่ได้ดำเนินการประเมินมูลค่ายุติธรรมเครื่องหมายการค้าเพื่อขาย หรือโอนให้แก่บริษัทย่อย หรือบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) ให้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง โดยบริษัทดังกล่าวได้ทำการบันทึกมูลค่ายุติธรรมของเครื่องหมายการค้าลงในงบดุล (Balance Sheet) ของกิจการในหมวดของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการบัญชี ทำให้กิจการมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ที่มีตัวตนและเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ หรือความเชื่อมั่นให้แก่หุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น และผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มตกต่ำและซบเซา แต่สินค้าแบรนด์ไทยกลับมีอนาคตที่สดใสสวนทางกันเช่นนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งย่อมมาจากการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากลด้วยการ “ประเมินคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญา” ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการก้าวสู่ความเป็นสากลดังเช่นที่ชาติเศรษฐกิจชั้นนำทั้งหลายได้ถือปฏิบัติกันมาช้านาน


กำลังโหลดความคิดเห็น