xs
xsm
sm
md
lg

“ไพรินทร์” โอดโดนเล่นงานคนเดียว แฉอดีตผู้บริหาร ปตท.นั่งเป็น กก.บริษัทอื่นเช่นกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - “ไพรินทร์” ซีอีโอ ปตท. เผย กมธ.ป.ป.ช.ไม่เคยเรียกตนชี้แจงกรณีกระทำผิด พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่เป็นกรรมการอิสระF&N โอดเคยมีผู้บริหาร ปตท.นั่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชนในอดีต แต่ไม่เคยถูกร้องเรียนเหมือนตนเอง ระบุให้รอผลชี้ขาดจากที่ประชุมกรรมการตรวจสอบฯ 12 ก.ค.นี้

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับเรื่องร้องเรียนการขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ ปตท.ว่า ที่ผ่านมา กมธ.ป.ป.ช.ไม่ได้เรียกตนเข้าไปชี้แจงเรื่องการขาดคุณสมบัติซีอีโอ ปตท. อันสืบเนื่องจากการเข้าไปรับตำแหน่งกรรมการอิสระ บริษัท เฟรเชอร์ แอนด์ นิฟ จำกัด (F&N) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีแต่อย่างใด อีกทั้งก่อนหน้านี้ เคยมีผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.ก็เป็นกรรมการบริษัทเอกชนอื่นมาแล้วเช่นกัน ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่เข้าใจว่าพอถึงยุคตนเองกลับมีข้อร้องเรียนขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลการชี้ขาดของที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ ปตท.ที่มีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดในฐานะกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ ปตท.ที่จะมีการพิจารณาการขาดคุณสมบัติซีอีโอ ปตท.ในประเด็นดังกล่าวในวันที่ 12 ก.ค.นี้ ทำให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งการตัดสินใจลาออกจากกรรมการอิสระ F&N ของตนก็เพื่อสร้างบรรทัดฐาน

ทั้งนี้ ได้มีการร้องเรียนการขาดคุณสมบัติซีอีโอ บมจ.ปตท.ของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เนื่องจากได้รับตำแหน่งกรรมการอิสระบริษัท เฟรเชอร์ แอนด์ นิฟ จำกัด (F&N) ซึ่งเข้าข่ายการขาดคุณสมบัติเนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ที่ห้ามผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาทำงานให้บริษัทอื่น เว้นแต่ประธานกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถทำงานให้รัฐวิสาหกิจได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน การดำเนินธุรกิจของ ปตท.ไม่ได้มีธุรกิจเฉพาะน้ำมันปิโตรเคมีเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจร้านกาแฟอเมซอน ซึ่งอาจเกิดการขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ได้ เนื่องจาก F&N ก็มีการดำเนินธุรกิจนี้เช่นกัน

นายไพรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หลังจากภาครัฐสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจออกกองทุนดังกล่าวเพื่อระดมเงินอันจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะได้ ซึ่ง ปตท.เองมีสินทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อ ดังนั้นก็คงมาพิจารณาดูว่าจะมีการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่เพื่อระดมทุนระบบท่อน้ำมันและก๊าซฯ ในอนาคต นับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการต่างๆ ในอนาคต

วันนี้ (25 มิ.ย.) กลุ่ม ปตท. และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ได้เปิดตัวผลงานความร่วมมือ Friendly POP ถังป็อปคอร์นย่อยสลายได้ 100% ภายใน 6 เดือน นับเป็นนวัตกรรมกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพีบีเอส) สามารถใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบพลาสติกพีอีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการปลุกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม สร้างทัศนคติในการอนุรักษ์ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และลดปริมาณขยะเพื่อโลกสีเขียว เบื้องต้นจะมีการเริ่มใช้ถังป็อปคอร์นดังกล่าวในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ 8 สาขา ก่อนที่จะขยายไปยังสาขาอื่นของเครือฯ

ทั้งนี้ ปตท.ได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน 50% ในโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพด้วยการสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutylene Succinate (PBS) ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ขนาดกำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2558 ซึ่งขณะนี้ได้มีการหาลูกค้าเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์จากโรงงานนี้แล้วคิดเป็น 50% ของกำลังการผลิต โดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ปจะซื้อผลิตภัณฑ์นี้ปีละ 20 ล้านตัน โดยยอมรับว่าราคาไบโอพีบีเอสปัจจุบันสูงกว่าราคาเม็ดพลาสติกทั่วไปถึง 4 เท่า ล่าสุดอยู่ที่ 4-5 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่เม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปอยู่ที่ 1.5 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากต้องมีการนำเข้าไบโอพีบีเอสจากญี่ปุ่น แต่เมื่อตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้วราคาน่าจะต่ำลง

ส่วนความคืบหน้าการตั้งโรงงานผลิตไบโอพลาสติกชนิด PLA แห่งที่ 2 ในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากบริษัท เนเชอร์ เวิร์ค ที่เครือ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 50% ค่อนข้างชะลอการตัดสินใจไปเป็นปลายปีนี้ เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันและเศรษฐกิจอียูชะลอตัว ทำให้กำลังการผลิตของโรงงาน PLA ในสหรัฐฯ เดินเครื่องเพียง 9 หมื่นตันจากกำลังผลิตเต็มที่ 1.4 แสนตัน/ปี จึงไม่รีบเร่งในการตัดสินใจลงทุนโรงงานแห่งที่ 2

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บมจ.ปตท. กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่องการร่วมทุนจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม เงินทุน 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว คาดว่าจะเสร็จสิ้นประมาณเดือน เม.ย. 2557 เบื้องต้น ปตท.จะถือหุ้น 1/3 หรือประมาณร้อยละ 30-40 และหุ้นที่เหลือจะชักชวนพันธมิตรมาร่วมทุน ทั้งเวียดนาม กลุ่มตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งแหล่งเงินทุนไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย โรงกลั่นน้ำมันขนาด 6.6 แสนบาร์เรล/วัน โรงงานโอเลฟินส์ 6.5 แสนตัน/ปี โรงงานอะโรเมติกส์ 3.72 แสนตัน/ปี โดยโรงกลั่นส่วนใหญ่ผลิตวัตถุดิบป้อนปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม จะมีน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบินออกมาจำหน่ายประมาณ 3 แสนบาร์เรล/วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น