ไทย-แอฟริกาใต้ตั้งเป้าดันการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 9,500 เหรียญสหรัฐในปี 60 พร้อมจัดกิจกรรมดึงนักลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เกษตร พลังงานทดแทนจับเข่าคุยกันเดือน พ.ย. ไทยจี้เปิดตลาดมังคุด และลำไย
รายงานข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้แอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) แอฟริกาใต้-ไทย ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 3 ณ กรุงพรีทอเรีย โดยมีนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายวิคเตอร์ มาชาเบลา ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม เป็นประธานร่วมฝ่ายแอฟริกาใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าขยายการค้าเพิ่มเป็นสองเท่า หรือ 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2560 โดยจะพยายามยกระดับการค้าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น และร่วมมือกันส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุน
ทั้งนี้ ไทยได้ขอให้แอฟริกาใต้ยุติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้า Gypsum Plasterboard ของไทยหลังจากวันที่ 6 มี.ค. 2557 และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ Trade and Investment South Africa (TISA) มาจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเดือน พ.ย. 2556 โดยจะมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสนใจ และยังเห็นชอบที่จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำ MOU เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน
สำหรับการเปิดตลาดผลไม้สด ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของผลไม้สดของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะมังคุดและลำไยของไทย และองุ่น แอปเปิล และแพร์ของแอฟริกาใต้
การค้าระหว่างไทย-แอฟริกาใต้ ไทยนับเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ในกลุ่มประเทศอาเซียน และแอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคแอฟริกา โดยระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าเฉลี่ย 2,973 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และไทยได้ดุลการค้าเฉลี่ย 1,002 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เฉพาะในปี 2555 แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าลำดับที่ 24 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 4,726 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากปี 2554 และมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 0.99 ของการค้าไทยทั้งหมด โดยไทยได้ดุลการค้าจากแอฟริกาใต้ 953 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2555 ไทยส่งออกไปยังแอฟริกาใต้รวม 2,840 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากปี 2554 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,887 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2554