xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยอุตฯ ขาดแรงงานขั้นรุนแรงปี 56-57 เกือบ 8 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สศอ.” เผยผลศึกษาชี้ภาคอุตฯ ขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรงปี 2556 และ 2557 รวม 7.75 แสนคน ส่วนมากเป็นแรงงานในระดับกึ่งฝีมือและระดับแรงงาน ส่วนระดับปริญญาตรีขึ้นไปคาดว่าขาดแคลนปีละ 15,000 คนในสายฝีมือเฉพาะด้าน และวิศวกรรม

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลการศึกษาภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่าตัวเลขความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2556 และ 2557 เท่ากับ 5.85 และ 5.91 ล้านคน ในขณะที่มีผู้เข้าสู่แรงงานเพียง 5.46 และ 5.51 ล้านคน ดังนั้นจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2556 เท่ากับ 3.8 แสนคน ในปี 2557 เท่ากับ 3.95 แสนคน โดยปี 2556 แรงงานที่ขาดแคลนกว่า 95% หรือประมาณ 365,860 คน เป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรีประมาณ 15,200 คน

เมื่อพิจารณารายสาขาอุตสาหกรรมพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุดจำนวน 43,520 คน เป็นการขาดแคลนแรงงานในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจำนวน 40,515 คน และแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไป 3,005 คน อุตสาหกรรมยานยนต์ขาดแคลนแรงงานรองลงมาจำนวน 36,606 คน เป็นแรงงานที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี 32,579 คน และปริญญาตรีขึ้นไป 4,027 คน ส่วนอุตสาหกรรมอาหารขาดแรงงานกว่า 30,825 คน กว่า 97% เป็นแรงงานระดับไร้ฝีมือ ส่วนแรงงานในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าขาดแคลนในสาขาวิเคราะห์และตรวจสอบอาหาร วิศวกรอาหาร และวิทยาศาสตร์อาหาร ฯลฯ ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีขาดแคลนแรงงานจำนวน 25,600 คน เป็นแรงงานที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีประมาณ 24,750 คน โดยเป็นการขาดแคลนแรงงานในสาขาวิศวกรแมคคาทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้า ฯลฯ

“วิชาชีพที่ขาดแคลนส่วนมากคล้ายๆ กัน โดยสาขาขาดแคลนที่พบมากในทุกอุตสาหกรรมคือ ช่างอุตสาหกรรม ช่างติดตั้ง บำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม วิศวกรแมคคานิก และช่างด้านออกแบบเครื่องจักร ฯลฯ” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานในอนาคตอาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ทำให้อุปทานแรงงานในวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่อุปสงค์แรงงานมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ช่องว่างการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น