xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เล็งจัดสรรน้ำตาลบริโภคใน ปท.เพิ่มอีก 2 แสนตัน ป้องขาดตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สอน.เผยน้ำตาลทรายในประเทศเริ่มตึงตัวหลังความต้องการใช้จากภาคการผลิตพุ่งกระฉูดโดยเฉพาะจากอุตฯ เครื่องดื่มทั้งชาเขียว และน้ำอัดลม เตรียมจัดสรรน้ำตาลบริโภคในประเทศเพิ่มอีก 2 แสนตันจากที่จัดสรรไว้ 2.5 ล้านตันเป็น 2.7 ล้านตัน พร้อมประกาศเจตจำนงต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย. คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) จะมีการพิจารณาจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูกาลผลิตปี 55/56 เพิ่มอีก 2 แสนตัน (2 ล้านกระสอบ) จากเดิมที่กำหนดไว้ 2.5 ล้านตัน (25 ล้านกระสอบ) เป็น 2.7 ล้านตัน (27 ล้านกระสอบ) เนื่องจากพบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำตาลทรายค้างกระดานเหลือไม่ถึง 8 แสนตัน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำกว่าปกติทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลเริ่มตึงตัวหากไม่มีการจัดสรรเพิ่มอาจเกิดภาวะขาดแคลนได้

“การบริโภคน้ำตาลทรายถือว่าสูงมาก โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม น้ำอัดลม อาหาร โดยเฉพาะชาเขียวที่ตลาดมีการแข่งขันชิงโชคทำให้ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตลาดน้ำอัดลมซึ่งเป็นเพราะอากาศร้อนจัด การจัดสรรน้ำตาลในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกน้ำตาลปีนี้จะอยู่ที่ 7.2 ล้านตัน จากการผลิต 10.8 ล้านตัน และฤดูกาลผลิตอ้อยปี 56/57 น่าจะผลิตอ้อยมากกว่า 100 ล้านตัน และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 11-12 ล้านตัน” นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้เสร็จเพื่อให้ทันฤดูกาลผลิตปี 56/57 ที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งล่าสุดมีการประชุมจากทุกภาคส่วนแล้วระดับหนึ่ง โดยนำเอาผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาประกอบการตัดสินใจ โดยความเห็นส่วนตัวต้องการให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเหมือนกับราคาน้ำมัน แต่ก็มีบางฝ่ายท้วงติงว่าหากโรงงานน้ำตาลฮั้วกันกำหนดราคาจะมีมาตรการอะไรมาดูแล จึงควรกำหนดเพดานราคาสูงสุดไว้และให้ประกาศเป็นรายเดือน ซึ่งทั้งหมดจะเร่งสรุปให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนาม “ประกาศเจตจำนงในการร่วมกันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย โดยมีตัวแทนชาวไร่ โรงงาน และหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์ และได้สั่งห้ามซื้อสินค้าจากไทยรวม 4 ประเภท ได้แก่ กุ้ง เสื้อผ้า ปลา รวมถึงน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยเมื่อช่วงปลายปี 2555 ทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย การลงนามครั้งนี้ก็เพื่อที่จะยืนยันว่าไทยไม่ได้มีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น