เครือเบทาโกรทุ่มงบ 100 ล้านบาทรีแบรนด์ใหม่ยุบรวมทุกแบรนด์ใช้แบรนด์เดียว “เบทาโกร” หวังขยายฐานกลุ่ม B2C มากขึ้น เป็นสัดส่วน 50% ใน 3 ปี จากเดิมแค่ 10% ลุยช่องทางตลาดโมเดิร์นเทรดหนัก
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ศกนี้เป็นต้นไปเครือเบทาโกรจะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อเปลี่ยนชื่อแบรนด์สินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่คุณภาพระดับมาตรฐานจากเดิมชื่อแบรนด์ “ไฮมีท” (HyMEAT) และแบรนด์ “ไฮเอ้ก” (HyEGG) รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารปรุงสุกคุณภาพแบรนด์ “เบทเทอร์ฟู้ด” (Better Food) มาใช้แบรนด์เดียวกันคือ “เบทาโกร” (BETAGRO) เพื่อตอกย้ำถึงความมีคุณภาพและทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นเมื่อเห็นตราสินค้า BETAGRO บนผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะเห็นผลได้ชัดเจนภายใน 3 เดือน
การเปลี่ยนชื่อทุกแบรนด์สินค้าครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นทำการตลาดในลักษณะ B2C มากขึ้น จากเดิมที่เน้นหนักไปทางด้าน B2B โดยเน้นการใช้สื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ในการสื่อสารกับผู้บริโภค พร้อมทั้งมีแผนการตลาดในการผลักดันทุกผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ไฮเปอร์มาร์เกต และซูเปอร์มาร์เกตเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 30% เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสัมผัสและจดจำแบรนด์ BETAGRO ในแง่ของสินค้าคุณภาพ น่าเชื่อถือสูง เข้าถึงได้ง่าย จริงใจ และให้ความรู้แก่ผู้บริโภค
“เป้าหมายของเครือฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของ B2C มากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยให้สัดส่วนรายได้จาก B2C ซึ่งเดิมมีเพียง 10% เพิ่มเป็น 30-50% ภายใน 3 ปี”
ในปี 2555 เครือเบทาโกรมีรายได้ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายภายในประเทศ 80% และส่งออก 20% ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และยุโรป โดยคาดว่าเครือเบทาโกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 15% ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี
“จากจำนวนรายได้ทั้งหมดแยกเป็นรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อไก่และสุกร 3 หมื่นล้านบาท ธุรกิจอาหาร ยา และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายทุกผลิตภัณฑ์ผ่านสาขาทั่วประเทศ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ทั้งหมดสามารถคิดเป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์แบรนด์ไฮมีท ไฮเอ้ก และเบทเทอร์ฟู้ด ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเบทาโกรประมาณ 2 หมื่นล้านบาท”
นายวสิษฐกล่าวด้วยว่า ในปีที่ผ่านมาเครือฯ มีรายได้จากการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนเพียง 3-5% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมด 20% ขณะที่แผนขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในลักษณะของโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และสำนักงานขาย ทั้งในประเทศ สปป.ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เครือฯ ใช้เงินลงทุนสูงสุดถึง 1 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา
“ปัจจุบันตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการสินค้าคงที่เนื่องจากประสบปัญหาต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน และปัจจัยอื่นๆ ขณะที่ศักยภาพตลาดภายในประเทศยังคงมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เครือฯ จึงเน้นทำตลาดภายในประเทศมากขึ้น โดยมีแผนขยายจำนวนร้านเบทาโกรชอปเพิ่มขึ้นจาก 100 สาขาเป็น 150 สาขา ส่วนสำนักงานสาขายังคงมี 68 สาขาทั่วประเทศ”