กฟผ.แจงไฟดับ14 จ.ภาคใต้เกิดจากฟ้าผ่า ผสมโรงกับการซ่อมบำรุงสายส่ง1เส้นจึงทำให้การจ่ายไฟเกินกำลังสายส่งที่เหลืออยู่ “เพ้ง”ขอโทษคนใต้สั่งทำแผนเพิ่มสายส่ง 500 Kvลากยาวให้ถึงหาดใหญ่ ภูเก็ต จี้ “เรกูเลเตอร์”ชัดเจนอำนาจสั่งการใหม่เกิดปัญหาต้องเลือกพื้นที่ดับที่กระทบน้อยกว่านี้
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) ฯลนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาหลังเกิดกรณีไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ว่า ขณะนี้บอร์ดกฟผ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นข้อบกพร่องส่วนบุคคล ระยะสั้นให้เรกูเลเตอร์ไปจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจสั่งการแก้ไขกรณีภาวะฉุกเฉินให้ชัดเจน ส่วนระยะกลางและยาวกฟผ.และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันเพื่อจัดทำแผนการวางระบบสายส่งไปยังภาคใต้ใหม่เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต
“ผมต้องกล่าวขอโทษกับพี่น้องชาวใต้ในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย และบทเรียนครั้งนี้จะได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นซ้ำอีกโดยเฉพาะวิธีการสั่งจ่ายไฟเมื่อเกิดปัญหาที่จะสามารถเลือกดับบางพื้นที่และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดก่อน ส่วนระยะยาวมีความจำเป็นจะต้องวางระบบสายส่งแรงดันสูง 500 Kv ไปยังภาคใต้เพิ่มจากขณะนี้วิ่งไปแค่บางสะพานจะต้องเชื่อมไปให้ถึงอ.หาดใหญ่ และอีกเส้นจากขนอมไปภูเก็ต โดยให้ทำแผนมาให้เร็วที่สุดเนื่องจากระบบส่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างเสร็จนานถึง 5 ปีขณะที่ภาคใต้มีปัญหาการใช้ไฟโตตลอดแต่ส่วนหนึ่งต้องส่งไปยังภาคกลาง”รมว.พลังงานกล่าว
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่ากฟผ.กล่าวว่า สาเหตุที่ไฟดับในพื้นที่ภาคใต้ 14จังหวัดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.เมื่อเวลา 18.52 น. เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้องทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟไปสู่ภาคใต้ได้ โดยสายส่งไปใต้มี 4 เส้นคือ แรงดัน 500 Kv 2 เส้น และ 230 Kv 2เส้น โดยเวลา 8.00 น.ของวันเกิดเหตุกฟผ.ไปปลดสายส่ง 500 Kv 1 เส้นเพื่อซ่อมบำรุง แต่เวลา 17.26 น.สายส่ง 500 Kv เส้นที่ 2 เกิดชำรุดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟไปยังภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟผ่านเส้น 230 Kv ซึ่งมีแรงดันต่ำและเล็กกว่าจึงทำให้สายส่งจ่ายไฟเกินกำลังจึงทำให้สายส่งหลุดจากระบบ
ประกอบกับภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟได้เพียงพอกับความต้องการต้องส่งไปยังภาคกลางอยู่แล้ว โดยภาคใต้มีความต้องการสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ขณะที่โรงไฟฟ้าภาคใต้ขณะนั้นเดินเครื่องผลิตอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม จะนะ เขื่อนรัชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า