xs
xsm
sm
md
lg

RATCH โหมบุกออสซี่ จ่อซื้อโรง IPP-ลงทุนโรงไฟฟ้าลม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เร่งจับมือพันธมิตรประมูลซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 พันเมกะวัตต์ที่ออสเตรเลีย พร้อมรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังลมอีก 430 เมกะวัตต์ เผยปีนี้คาดมีกำไรสูงกว่าปีก่อน เหตุต้นทุนการเงินต่ำลง

นายเกรียงฤทธิ์ เจียจันทร์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กำกับดูแลบริษัทในเครือบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในออสเตรเลีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างฟอร์มทีมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย 2 แห่งที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ กำลังการผลิตติดตั้ง 4 พันเมกะวัตต์ คาดว่าปลายปีนี้จะได้ข้อสรุป ซึ่งการซื้อโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะทำให้บริษัทรับรู้รายได้ทันทีและก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำในออสเตรเลียด้วย

“ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ฟอร์มทีมพาร์ตเนอร์เพื่อซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ออสเตรเลียที่แปรรูปออกมา โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดสถานะกิจการโรงไฟฟ้า คาดว่าบริษัทคงไม่เข้าซื้อทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกับพาร์ตเนอร์ และกว่าจะรู้ผลการประมูลก็คงเป็นปีหน้า”

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม 2 แห่งในออสเตรเลียที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์ กำลังการผลิตรวม 430 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการแรกในไตรมาส 3/2556 และโครงการที่ 2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2557 โครงการนี้จะดึงผู้ร่วมทุนที่เป็นเจ้าของที่ดินร่วมถือหุ้น โดยบริษัทจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50%

นายเกรียงฤทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการที่ลงทุนแล้วให้แล้วเสร็จตามแผนงาน และลงทุนโครงการใหม่ทั้งในออสเตรเลีย ลาว เป็นต้น

ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ 3 โรงได้แก่ โรงไฟฟ้าหงสา ที่ สปป.ลาว ขนาดกำลังผลิต 1,876 เมกะวัตต์ โดยราชบุรีถือหุ้น 40% คาดว่าจะเริ่มทดลองเดินเครื่องในกลางปี 2557 และเริ่้มจ่ายไฟเข้าระบบโรงแรกในเดือน มิ.ย. 2558 และครบ 3 โรงในเดือน เม.ย. 2559 ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 750 ล้านบาท/โรง

นอกจากนี้ยังมีโครงการเซเปียน เซน้ำน้อย ที่ สปป.ลาว กำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ บริษัทฯ ถือหุ้น 25% ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2561 โดยมีแผนจัดหาเงินกู้วงเงิน 700 ล้านเหรียญให้แล้วเสร็จในไตรมาส 2/2556 จำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการราชบุรีเวอลด์โคเจนเนอเรชั่น ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 40% มีโรงไฟฟ้า 2 โรง กำลังติดตั้งรวม 210 เมกะวัตต์ และไอน้ำกว่า 20 ตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ได้กลางปี 2557

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ สนใจเข้าร่วมประมูลไอพีพี แต่พบว่ามีความเสี่ยง เพราะหากจะวางหลักประกันด้วยวงเงิน 1.25 พันล้านบาท สำหรับกำลังผลิต 2 พันเมกะวัตต์ อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น ที่นำเงินไปกองไว้กับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีความกังวลด้านพื้นที่สีเขียวว่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลไอพีพีรอบนี้

นายเกรียงฤทธิ์กล่าวว่า เหตุที่บริษัทฯ ไม่เข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในประเทศว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงด้านที่ดิน เพราะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซฯ จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ใกล้แนวท่อก๊าซฯและสายส่งไฟฟ้า โดยพื้นที่ที่บริษัทจะใช้ยื่นประมูลเป็นพื้นที่สีเขียว อาจจะไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ และโครงการนี้กว่าจะรับรู้รายได้ใช้เวลานานถึง 8 ปี ขณะที่บริษัทมีแผนลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ทำให้บริษัทยังเติบโตต่อไแม้จะไม่ได้เข้าร่วมประมูลไอพีพี

นายวุฒิชัย ตันกุรานันท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีนี้ บริษัทฯ คาดว่ากำไรสุทธิดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากมีต้นทุนการเงินลดลง โดยภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากปีก่อน 500 ล้านบาท หลังทยอยคืนเงินต้น โดยปกติในไตรมาส 2 จะมีกำไรสุทธิดีกว่าไตรมาส 1 เนื่องจากอากาศร้อนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

ไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 1.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2.15 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37%
กำลังโหลดความคิดเห็น