xs
xsm
sm
md
lg

การปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินยูโรโซนที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มในยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

       กองทุนตลาดเงินสหรัฐกำลังกลับเข้ามาลงทุนในยูโรโซน โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ผู้ปล่อยกู้มีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่ายูโรโซนจะสามารถควบคุมวิกฤติหนี้ได้
        กองทุนตลาดเงินคือกองทุนที่นำเงินของนักลงทุนไปปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์, บริษัท หรือรัฐบาลเป็นเวลาสั้นๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้ระยะไม่เกินสองปี ขณะที่กองทุนตลาดเงินจะได้รับผลกระทบเมื่อใด
ก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินอยู่ในระดับติดลบ
        ปัจจุบันนี้กองทุนตลาดเงินยังคงปล่อยกู้แก่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนเพียงบางแห่งเท่านั้น โดยเลือกที่จะปล่อยกู้แก่ธนาคารที่มีความปลอดภัยในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เพราะกองทุนยังคงกังวลว่าวิกฤติหนี้
ยูโรโซนที่ดำเนินมานาน 3 ปีอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก
        การที่กองทุนตลาดเงินกลับมาสนใจลงทุนในยูโรโซนอีกครั้งถือเป็นการเปิดแหล่งระดมทุนที่สำคัญแหล่งใหม่ให้แก่ภาคธนาคาร และสินเชื่อที่ภาคธนาคารปล่อยให้แก่ภาคธุรกิจก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
        ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนเริ่มลดการพึ่งพาธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)ในระยะนี้ เนื่องจากภาคธนาคารมีความเชื่อมั่นในโครงการเข้าซื้อพันธบัตรของอีซีบี ถึงแม้อีซีบียังไม่ได้ใช้เงินในโครงการดังกล่าว และภาคธนาคารพึงพอใจกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่ในระดับที่ดีเกินคาดด้วย
       ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนได้ชำระคืนเงินกู้ไปแล้วเกือบ 1 ใน 3ของปริมาณเงินทั้งหมดที่กู้ยืมมาจากอีซีบีในเดือนพ.ย.2011 ภายใต้โครงการปล่อยกู้ฉุกเฉินระยะ 3 ปี (LTRO) รอบแรก โดยการชำระหนี้ก่อนกำหนดนี้
ทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า เม็ดเงินส่วนเกินในระบบธนาคารยูโรโซนอาจจะลดลงอย่างรวดเร็วเกินคาด
        สิ่งนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินพุ่งสูงขึ้น และเปิดโอกาสให้กองทุนสหรัฐกลับเข้ามาลงทุนในยูโรโซนได้อีกครั้ง หลังจากที่กองทุนสหรัฐเกือบยุติการปล่อยกู้ในยูโรโซนในเดือนก.ค.2012 เมื่ออีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยวงเงินฝากลงสู่ 0 % ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินมีค่าติดลบ
        นางเดบอราห์ คันนิงแฮม หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทเฟเดอเรเท็ด อินเวสเตอร์ส ซึ่งบริหารกองทุนตลาดเงินวงเงิน 2.85 แสนล้านดอลลาร์ กล่าวว่า "เราคิดว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้น และสิ่งนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้อัตราดอกเบี้ยดีดตัวขึ้น"
        นางคันนิงแฮมกล่าวว่า "เมื่อธนาคารหลายแห่งชำระหนี้ LTROธนาคารกลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องระดมทุนทางตรงจากตลาดแทนที่จะระดมทุนจากอีซีบีและสิ่งนี้จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซนต้องการกู้ยืมเงินจากเรามากยิ่งขึ้น"
        การกู้ยืมเงินจากกองทุนเป็นสิ่งที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการกู้ยืมเงินจากอีซีบี
        หลังจากอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินยูโรโซนปรับตัวขึ้นมาเป็นเวลานาน6 เดือน นางคันนิงแฮมก็กำลังวางแผนที่จะเพิ่มการปล่อยกู้ทั้งในรูปสกุลเงินยูโรและดอลลาร์ และปล่อยกู้เป็นเวลายาวนานยิ่งขึ้น หลังจากที่เคยจำกัดระยะเวลาในการปล่อยกู้ไว้ไม่เกินหนึ่งเดือนในช่วงก่อนหน้านี้
        เทรดเดอร์ตลาดเงินกล่าวว่า ปริมาณการปล่อยกู้เพิ่มสูงขึ้นในสินเชื่อระยะ 3 เดือนและ 6 เดือน และมีการปล่อยกู้ระยะ 1 ปีในเดือนม.ค.ด้วยซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้
        อัตราดอกเบี้ย Eonia ประเภท 6 เดือนอยู่ที่ระดับราว 0.12 %ในช่วงนี้ หลังจากที่เคยดิ่งลงแตะระดับ -0.03 % ในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. 2012ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนี้สะท้อนค่าเฉลี่ยของตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยช่วงข้ามคืนในระยะ 6 เดือน และมักจะปรับตัวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตราสารพาณิชย์ประเภท 6 เดือนที่ออกโดยธนาคารที่แข็งแกร่งที่สุดในยูโรโซน
        อัตราดอกเบี้ย Eonia ประเภท 1 ปีอยู่ที่ราว 0.18 % ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ณ ตลาดลอนดอน (Libor) สำหรับสินเชื่อยูโรระยะ 1 ปีอยู่ต่ำกว่า 0.50 % โดยธนาคารพาณิชย์ที่ชำระหนี้ LTRO
คืนให้แก่อีซีบีหลังจากเวลาผ่านไปหนึ่งปี ได้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงกว่า 0.75 % เพียงเล็กน้อย
        กองทุนตลาดเงินแทบไม่สามารถให้ผลตอบแทนใดๆแก่นักลงทุนได้ในเดือนก.ค.2012 และหลังจากอีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ 0 %ในเดือนก.ค. 2012 บริษัทเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, แบล็คร็อค อิงค์
และโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ ของสหรัฐก็จำกัดช่องทางของนักลงทุนในการเข้าถึงกองทุนตลาดเงินยุโรปของบริษัทตนเองในทันที
        อย่างไรก็ดี เจพีมอร์แกนระบุว่า ทางบริษัทได้ยกเลิกข้อจำกัดส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่แบล็คร็อคกับโกลด์แมนยังคงบังคับใช้ข้อจำกัดดังกล่าวต่อไป
        ฟิทช์ เรทติ้งส์ได้เปิดเผยผลสำรวจในเดือนม.ค.ระบุว่า กองทุนตลาดเงินชั้นนำของสหรัฐปล่อยกู้ในยูโรโซนในช่วงสิ้นปี 2012 ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 70 % จากช่วง 6 เดือนก่อนหน้านั้น โดยเป็นผลมาจาก"มาตรการของอีซีบี และความผันผวนที่ลดลงในตลาดยูโรโซนโดยรวม"
        การจัดสรรเงินกู้สำหรับยูโรโซนอาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในเดือนม.ค.โดยบริษัทเวลส์ แคปิตัล แมเนจเมนท์ ซึ่งบริหารสินทรัพย์ตลาดเงินวงเงิน1.36 แสนล้านดอลลาร์ ได้เพิ่มการปล่อยกู้ในยูโรโซนนับตั้งแต่ต้นปี 2013
        นายเดวิด ซิลเวสเตอร์ ประธานกองทุนตลาดเงินของ เวลส์ แคปิตัล กล่าวว่า "ในช่วงนี้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า สถานการณ์กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี"
        อย่างไรก็ดี ฟิทช์ระบุว่า ปริมาณการปล่อยกู้ในยูโรโซนยังคงดิ่งลงกว่า 60 % จากช่วงสิ้นเดือน พ.ค. 2011 โดยในช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินประเภท 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่สูงกว่า 1 % และไม่มีแนวโน้มที่ปริมาณ
การปล่อยกู้จะพุ่งขึ้นสู่ระดับเดียวกับในเดือนพ.ค. 2011 ได้ในเร็วๆนี้
        กองทุนตลาดเงินสหรัฐลดการปล่อยกู้ในยุโรปในช่วงปลายปี 2011เนื่องจากมีความกังวลกันว่าสกุลเงินยูโรอาจจะล่มสลาย หลังจากต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีและสเปนพุ่งขึ้นอย่างมาก ซึ่งการถอนตัวของกองทุนตลาดเงิน
สหรัฐในช่วงนั้น ทำให้นักลงทุนกังวลกันว่า ระบบธนาคารยูโรโซนจะได้รับความเสียหาย
        ค่าสว็อปข้ามสกุลเงินยูโร/ดอลลาร์ระยะ 3 เดือน ดิ่งลงสู่ -167.5จุดในเดือน พ.ย. 2011 ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส แต่ค่าสว็อปได้ทะยานขึ้นสู่ -23 จุดในระยะนี้ ขณะที่ค่าสว็อป
ที่ระดับต่ำบ่งชี้ว่าต้นทุนในการทำสว็อปการระดมทุนยูโรแลกกับดอลลาร์อยู่ในระดับที่แพงมาก ส่วนค่าสว็อปที่ระดับสูงบ่งชี้ว่าต้นทุนอยู่ในระดับต่ำ
        ผู้จัดการกองทุนหลายรายยังคงกังวลต่อวิกฤติหนี้ยูโรโซน ถึงแม้ว่าวิกฤติได้บรรเทาลงแล้ว
        ผู้จัดการกองทุนตลาดเงินรายหนึ่งกล่าวว่า "อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่เราต้องการจะเห็นการปรับขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่านี้" และเขากล่าวเสริมว่า "ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่สถานการณ์ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง และอาจจะตกต่ำลงได้ง่าย"
(ข้อมูลข่าวจาก สำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น