xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของรถคันแรก เจอป้ายแดงปลอมระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปรียบเทียบระหว่างป้ายแดงปลอม(ล่าง)และของจริง(บน)จะเห็นความแตกต่างชัดเจน อาทิ ความคมชัดของตัวหนังสือ ตัวเลขที่นูนขึ้นมา
ASTVผู้จัดการรายวัน - ป้ายแดงปลอมยังระบาด ลูกค้ารถคันแรกร้องถูกตำรวจจับโดยไม่รู้ “ชัชชาติ” ปัดไม่เกี่ยวนโยบายรถคันแรก ด้านกรมการขนส่งฯ ยันจำนวนป้ายแดงและป้ายดำมีเพียงพอไม่ขาดแคลน ชี้เป็นปัญหาการหมุนเวียนป้ายของบริษัทรถยนต์เอง แนะเจ้าของรถเร่งจดทะเบียน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาป้ายแดงปลอมยังไม่หมดไปตามที่กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ออกมายืนยัน เนื่องจากยังมีประชาชนถูกบริษัทผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ให้ป้ายแดงปลอมมาใช้ระหว่างรอป้ายทะเบียนดำ (แผ่นป้ายสีขาวตัวหนังสือสีดำ) จนถูกตำรวจจับ โดยล่าสุดได้มีเจ้าของรถป้ายแดงตามนโยบายรถคันแรกซึ่งได้ซื้อรถจาก บริษัท โตโยต้า ลิบรา จํากัด สาขาเกษตร-นวมินทร์ ร้องเรียนว่าถูกตำรวจจับและยึดใบขับขี่ ข้อหาไม่ใช้แผ่นป้ายของทางราชการ (ป้ายแดงปลอม) โดยที่เจ้าของรถไม่ทราบว่าป้ายแดงที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าให้มานั้นเป็นของปลอม และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าขณะนี้มีรถที่ใช้แผ่นป้ายแดงปลอมเป็นจำนวนมาก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาป้ายแดงปลอมเพราะการหมุนเวียนไม่ทัน ซึ่งกรมการขนส่งฯ ได้แก้ปัญหาโดยผลิตเพิ่มแล้ว ซึ่งหลักการของป้ายแดงเป็นการใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ คือเพื่อรอป้ายทะเบียนดำหรือรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมเท่านั้น ซึ่งบริษัทรถมีหน้าที่ต้องเร่งนำป้ายแดงไปคืนเพื่อเปลี่ยนเป็นป้ายดำปกติให้ผู้ซื้อรถ โดยจะให้กรมขนส่งฯ ไปตรวจสอบเรื่องนี้อีก เพราะการนำป้ายแดงปลอมมาใช้ถือว่าเป็นการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบกแล้วพบว่าขณะนี้ป้ายแดงมีปริมาณที่เพียงพอต่อการให้บริการ

“เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับนโยบายรถคันแรกเพราะจะเป็นการจอง ส่วนรถจะทยอยออกมา ไม่ได้ออกมาพร้อมกัน และจำนวนป้ายที่กรมการขนส่งฯ ผลิตเพียงพอกับจำนวนรถที่จะจดทะเบียน ส่วนจำนวนป้ายแดงเป็นเรื่องการหมุนเวียนด้วย ซึ่งบริษัทรถต้องรับผิดชอบลูกค้าด้วย” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การที่บริษัทรถยนต์ หรือดีลเลอร์ นำป้ายแดงปลอมมาให้บริการแก่ประชาชนนั้นถือว่าเป็นการกระทำความผิดเนื่องจากเป็นการปลอมเอกสารของทางราชการ โดยจะเป็นการกระทำความผิดซึ่งจะมีโทษทางอาญา ส่วนผู้ใช้ป้ายแดงปลอมนั้น หากมีการพิจารณาแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาในการใช้ก็ถือว่าไม่มีความผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวดีลเลอร์ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกยืนยันว่าป้ายแดง และป้ายดำมีเพียงพอต่อความต้องการในขณะนี้แน่นอน

“การใช้ป้ายแดงปลอมนั้น เป็นการกระทำผิดทางอาญาเนื่องจากเป็นการใช้เอกสารปลอม ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถนำป้ายมาให้กรมการขนส่งฯ ตรวจสอบได้ว่าเป็นป้ายจริง หรือป้ายปลอมได้ ส่วนการดำเนินการเอาผิดต่อดีลเลอร์รถนั้น ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งกรณีความผิดดังกล่าวนั้นเป็นความผิดที่มีโทษทางกฎหมายอาญา ที่บริษัทขายรถจะต้องรับผิดชอบ” นายอัฌษไธค์กล่าว

นายอัฌษไธค์กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้จำนวนป้ายแดงและป้ายดำมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน และขอให้ประชาชนรีบดำเนินการขอจดทะเบียน โดยนำเอกสารที่ถูกต้องมายื่นจดทะเบียนที่กรมการขนส่งฯ เพื่อประโยชน์ของเจ้าของรถเอง โดยป้ายแดงนั้นบริษัทรถยนต์จะมาซื้อจากกรมการขนส่งฯ เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้า มีต้นทุนแผ่นป้ายละ 100 บาทพร้อมคู่มือ ส่วนปัญหาป้ายแดงปลอมนั้นคาดว่าน่าจะเกิดจากการหมุนเวียนป้ายไม่ทัน ซึ่งมีข้อสังเกตระหว่างป้ายแดงจริงกับป้ายแดงปลอมนั้นจะมีข้อแตกต่างคือ หากเป็นป้ายแดงจริงจะมีตัวอักษร “ขส” ปั๊มนูนบริเวณมุมล่างด้านขวา ส่วนป้ายปลอมจะไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมการขนส่งฯ ได้ประมูลคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาผลิตแผ่นป้ายทะเบียนแล้ว โดยจะผลิตป้ายทะเบียนใหม่รวม 7.14 ล้านแผ่น ประกอบด้วย แผ่นป้ายแดง 1.4 แสนแผ่น แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 4 ล้านแผ่น และแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ 3 ล้านแผ่น ซึ่งจะแก้ปัญหาทั้งป้ายแดงขาดแคลน ป้ายแตกลายงาที่รอการเปลี่ยนใหม่ แบบเบ็ดเสร็จ โดยจะทยอยส่งมอบมาใช้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 โดยป้ายทะเบียนทั้ง 7.14 ล้านแผ่นจะสามารถรองรับการจดทะเบียนรถใหม่ได้ไปถึงปี 2556 พนักงานขายรถยนต์รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า โดยปกติป้ายแดงที่ให้ลูกค้าใช้ระหว่างรอแผ่นป้ายดำนั้นจะมีคู่มือและเก็บค่ามัดจำป้ายแดงจากลูกค้าจำนวน 3,000 บาท โดยลูกค้าจะได้ค่ามัดจำคืนเมื่อจดทะเบียนเป็นป้ายดำและนำป้ายแดงมาคืน ซึ่งปัญหาป้ายแดงปลอมนั้นเกิดขึ้นเพราะจำนวนป้ายแดงที่บริษัทรถยนต์สต๊อกไว้ไม่สอดคล้องกับปริมาณยอดขาย ทำให้การหมุนเวียนไม่เพียงพอต่อการใช้งานจริง รวมถึงกรณีที่ลูกค้าจดทะเบียนป้ายดำล่าช้าใช้เวลานานกว่าปกติ เช่น รอล็อกเลขทะเบียน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เซลส์ขายรถแต่ละคนจะมีแผ่นป้ายแดงปลอมในมือประมาณ 5 คู่
กำลังโหลดความคิดเห็น