xs
xsm
sm
md
lg

101 ปฏิบัติการพลิกชีวิต ตอนที่ 25 "หุ้น - Portfolio"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

     คำถามยอดฮิตที่ผมมักจะถูกถามก็คือ หากมีเงินสักล้านบาทในตอนนี้ ควรจะเอาไปลงทุนอะไรดีที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า การปล่อยให้เงินนอนนิ่งแทบไม่กระดิกอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารฯ
     บางคนบ่นว่าจะนำเงินไปฝากประจำ หรือซื้อพันธบัตร ถึงแม้จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ไม่ค่อยเย้ายวนสักเท่าไร  เพราะถึงแม้จะได้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ก็ต้อง“ล็อค”เงินแช่แข็งเอาไว้นานพอสมควร
     หลายคนให้ความสนใจในกองทุนรวม ที่มีการออกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบใหม่ๆออกมามากมาย เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนรวมประเภท Target Fund ที่ใช้ผลตอบแทนที่สูง ในระยะเวลาที่ไม่ยาวจนเกินไปนักเป็น “จุดขาย” ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรในช่วงหลัง เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่น เช่นกองทุนฯที่ไปลงทุนในต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่กองทุนทองคำ
     แต่สำหรับบางคนก็สนใจในการซื้อทองคำแท่ง เพราะมีความเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะขึ้นไปสูงถึงบาทละ 2 หมื่นบาทได้
     อย่างไรก็ตาม เกือบทุกคนก็ยอมรับว่า การลงทุนในหุ้น ก็ยังคงเป็นอะไรที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจที่สุด แต่หลายคนก็ยังคงกลัวเรื่องความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงตลาดหุ้นอยู่ในภาวะกระทิง ที่อยู่ในช่วง ”ขาขึ้น” แบบนี้ 
     “High risk high return” หรือ “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว” เป็นคำเปรียบเปรยที่หลายคนคงได้ยินบ่อยๆเมื่อพูดถึงเรื่องของการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า หากเราต้องการที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ก็ย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วย
     แต่ปัญหาโลกแตกแบบนี้ สามารถคลี่คลายได้ด้วยหลักของการกระจายความเสี่ยงที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆในแวดวงการจัดการเรื่องเงินๆทองๆก็คือ อย่างใส่ไข่ทุกใบในตระกร้าใบเดียว หรือแนวคิดในเรื่องของ การจัดสรรสัดส่วนการลงทุน Asset Allocation
     หลักการสำคัญ ก็คือ การจัดสรรหรือจัดแบ่งการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆของคุณ ภายใต้วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆอย่างเหมาะสม
     เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น ผมขอแยกประเภทของสินทรัพย์ที่จะลงทุนออกเป็น เงินฝาก พันธบัตร หรือกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น และ หุ้น โดยมีความเสี่ยงและผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
     บนหลักการของการกระจายการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ยอมต้องการได้รับผลตอบแทนสูงสุด ในขณะที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ การใส่น้ำหนักของการลงทุนใน “หุ้น” จึงดูจะเป็นตัวเลือกที่ควรจัดวางลงในตระกร้าลงทุนของคุณเป็นอันดับแรก
     แต่เนื่องจากขนาดของหัวใจของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกัน ตามลักษณะอุปนิสัย และอายุ การให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นจึงต้องมีการประเมินไปควบคู่กับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้
     บางตำราเขาให้เริ่มจากดูอายุโดยเอา 100 เป็นตัวตั้ง ลบด้วยอายุของคุณแต่ละคน ผลลัพธ์ที่ได้คือ % การลงทุนที่สามารถลงทุนหุ้นใน Portfolio ของตัวเอง
     ยกตัวอย่างหากคุณอายุสัก 35 ปี คุณก็สามารถจะลงทุนในหุ้นได้สูงสุดประมาณ 65 % ของพอร์ตการลงทุนของคุณ
     แต่ลำพังประเมินจากอายุเพียงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะกับอุปนิสัย หรือ ขนาดของหัวใจของแต่ละคน จึงมีการคิดสูตร ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ขึ้นมา บนหลักการยิ่งทนทานต่อความเสี่ยงได้มากเท่าไร ก็ย่อมสามารถที่จะลงทุนในหุ้นมากขึ้นตามไปด้วย (ตารางประกอบ)

     อีกวิธีหนึ่งก็ใช้หลักง่ายๆว่า คุณสามารถจะลงทุนในหุ้นได้สองเท่าของความทนทานต่อการขาดทุนของคุณเอง
     ในการจัดวางน้ำหนักสัดส่วนการลงทุนในตราสาร และสินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากหุ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ พันธบัตร หรือ เงินฝากประจำ ก็ใช้หลักคล้ายคลึงกัน คือ ชั่งน้ำหนักดูให้ดีระหว่าง ผลตอบแทน และความเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ ไสตล์การลงทุนของแต่ละคน รวมถึงระยะเวลาที่เราต้องการผลตอบแทน
     ในบางครั้งหากเราต้องการผลตอบแทนในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ก็อาจจะแบ่งพอร์ตแตกออกเป็นหลายกองก็ได้ เพื่อให้ง่ายขึ้นในการจัดสรรสัดส่วนการลงทุน
     รายละเอียดการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม ปัจจุบันสามารถที่จะค้นหาข้อมูลได้จากหลายแหล่ง แต่ผมอยากเสนอโครงสร้างอย่างง่ายเอาไว้เป็นตัวอย่างตามตารางประกอบ
 

     สิ่งที่ต้องระวังอย่างที่สุดก็คือ อย่าเผลอนำหลักการนี้ไปใช้กับการลงทุนในการเลือกซื้อหุ้นเป็นอันขาด เพราะอย่างที่ผมเคยแนะนำไปแล้วว่า การตัดสินใจจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องรู้จักและใกล้ชิดกับมันดีพอ
     หากมันคือ “หุ้นในดวงใจ” ของคุณ มันจะต้องมาจากการศึกษามาอย่างดี ไม่ใช่ซื้อเพราะแรงเชียร์ หรือกระแสปั่นในห้องค้าฯ
     สำหรับคนที่ยังเป็นมือใหม่หัดขัด คุณอาจจะจับความรู้สึกในเรื่องของความทนทานต่อความเสี่ยงไม่ออก แต่ประสบการณ์จะช่วยสอนคุณให้เก่งมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มทดลองจากเงินก้อนเล็กๆเสียก่อน เพราะการลงมือกระทำ คือหนทางของความสำเร็จอย่างแท้จริง 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น