ASTVผู้จัดการรายวัน - เปิดเทรนด์ตลาดโฆษณาปี 56 คนในวงการคาดโต 10% ทะลุ 135,000 ล้านบาท จับตาสื่อเคเบิลทีวีเม็ดเงินโฆษณาทะลักพุ่ง 100% กระแสเรียลิตีส่งฟรีทีวีชิงเรตติ้งเรียกคนดู สื่อรองงัดมัลติมีเดียกระตุ้นรายได้ แนวโน้มสินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอล์อัดงบโฆษณาสู้สูงสุด
จากผลการสำรวจของบริษัท นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย จำกัด ที่ระบุว่า สถาณการณ์ตลอดปี 2555 ที่ผ่านมาที่ไม่มีปัญหาทางการเมืองอย่างรุนแรง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้ 11 เดือน คือ ม.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณามีมูลค่าอยู่ที่ 107,000 ล้านบาท โดยสื่อโทรทัศน์โต 10% สื่อวิทยุโต 7% สื่อหนังสือพิมพ์โต 5% สื่อโรงภาพยนตร์และอินสโตร์โต 70% และสื่ออินเทอร์เน็ตโต 25%
ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อจบปี 2555 คาดว่าจะมีมูลค่าที่ 120,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% ซึ่งขณะนี้ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากนีลเส็นฯ ยังไม่เผยออกมา
นายวิชัย สุภาสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีจีส มีเดีย (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มบริษัทชั้นนำระดับแนวหน้าของโลกด้านการสื่อสารการตลาดแบบครบวงจร ได้วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2556 ว่า ภาพรวมโฆษณาน่าจะโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 10% หรือน่าจะมีมูลค่าราว 135,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตมาจากหลายๆ ส่วน เช่น
สื่อโทรทัศน์เชื่อว่าจะมีการปรับราคาโฆษณาเฉลี่ยขึ้นอีก 12-15% แล้วแต่รายการ โดยภาพรวมสื่อโทรทัศน์ยังครองส่วนแบ่งโฆษณากว่า 60% ของภาพรวมอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้เชื่อว่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อชิงเรตติ้งคนดู โดยเฉพาะรายการเรียลิตีในปี 2556 นี้จะได้เห็นอีกหลายรายการ
ทั้งนี้ จากการที่ กสทช.จะมีการจัดระบบการจัดสรรสื่อโทรทัศน์ใหม่นั้นทำให้อนาคตจะมีฟรีทีวีเกิดขึ้นอีกหลายสิบช่อง ถือเป็นโอกาสของผู้ลงโฆษณา แต่เม็ดเงินโฆษณายังคงเท่าเดิม จากเดิมในปีนี้ที่ถึงแม้สื่อโทรทัศน์จะเป็นสื่ออันดับหนึ่ง แต่เรตติ้งในการดึงฐานคนดูนั้นหายไปกว่า 15% เนื่องจากคนดูหันไปดูทีวีย้อนหลังผ่านมือถือ หรืออินเทอร์เน็ตแทน ในแง่ของโฆษณามีผล โดยส่งผลให้เจ้าของสินค้าต้องมองหาเครื่องมืออื่นๆ มาทดแทน เช่น
สื่อเคเบิลทีวี และสื่ออื่นๆ เนื่องจากในแง่ของจำนวนนาทีของการลงโฆษณาในฟรีทีวี ปัจจุบันเต็มพื้นที่แล้วจากกฎข้อบังคับที่สามารถลงโฆษณาบนฟรีทีวีได้ 12 นาทีต่อชั่วโมง
ส่วนสื่อเคเบิลทีวีรวมถึงทีวีดาวเทียมนั้น จากเดิมที่มีเม็ดเงินโฆษณาต่อเดือนราว 1,000 ล้านบาท จบปี 55 คาดว่าจะทำได้ถึง 10,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 นี้มั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว หรือ 100% แต่เนื่องจากในปี 2556 นี้จะมีเรื่องของกฎระเบียบ และการควบคุมการโฆษณาจากทาง กสทช.ที่มีความชัดเจนขึ้น อาจจะมีผลต่อการปรับราคาโฆษณาในสื่อเคเบิลทีวีด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ยังมองว่าสื่อดังกล่าวจะเป็นสื่อที่โตเร็วมาก เนื่องจากเป็นสื่อทางเลือกใหม่ให้สินค้าที่ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงและชัดเจนได้เป็นอย่างดี เช่น สินค้าที่ต้องการขายในต่างจังหวัดเป็นหลัก ส่วนสินค้าแบรนด์ใหญ่ก็ยังสามารถเลือกลงโฆษณาแบบเจาะจงเซกเมนต์จากสื่อเคเบิลทีวีได้ด้วย
สำหรับสื่ออินสโตร์ อินเทอร์เน็ตยังโตได้อีกพอสมควร โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต จากกระแสดิจิตอลที่มาแรง มองว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 25% ยิ่งบวกกับการเกิด 3จี ด้วยแล้ว จะได้เห็นโฆษณาที่ถูกพัฒนาใหม่ๆ ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาลงในสื่อนี้มากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มสินค้าที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12-14 ปี โดยจะได้เห็นการแข่งขันของกลุ่มสมาร์ทโฟนสูงขึ้นด้วย
ส่วนสื่อเคลื่อนที่ก็จะเติบโตสูงขึ้น จากเส้นทางใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายสาย ส่วนสื่อเอาต์ดอร์นั้นยังคงมีอัตราการเติบโตที่ปีละประมาณ 10% โดยปี 56 นี้จะได้เห็นนวัตกรรมใหม่เข้ามา และทิศทางการใช้สื่อเอาต์ดอร์จะขยายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น
นายวิชัยกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่จะมีการใช้เงินโฆษณามากสุดในปี 2556 คาดการณ์ว่า อันดับ 1 คือ กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ นอกเหนือจากเป๊ปซี่และโค้กที่ใช้สูงมากอยู่ก่อนแล้วยังจะมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับปีก่อนที่กลุ่มนี้ใช้เงินสูงเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเม็ดเงินกว่า 8,591 ล้านบาท
อันดับ 2 คือ สกินแคร์ เป็นตลาดที่ใหญ่และมีตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะสินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย ซึ่งมีแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้นในปีนี้ จากปีก่อนใช้เงินเป็นอันดับสาม กว่า 6,686 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 คือกลุ่มยานยนต์ ต่อเนื่องมาจากนโยบายของภาครัฐกับนโยบายรถคันแรก ขณะที่ผู้ผลิตเองจะมุ่งไปในกลุ่มรถอีโคคาร์ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และกลุ่มรถไฮบริดจะมีเพิ่มสูงขึ้น รุ่นใหม่ๆ จะมีการเปิดตัวมากขึ้นในปีนี้ โดยปีก่อนใช้เงินสูงเป็นอันดับสองกว่า 8,490 ล้านบาท
สำหรับอันดับ 4 คือ กลุ่มคอมมูนิเคชัน ทั้งทรูมูฟ เอไอเอส และดีแทค และอันดับ 5 คือ รีเทล ทั้งในเรื่องของการชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ที่จะมีสูงขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยการพัฒนาชอปปิ้งคอมเพล็กซ์จะยึดตามเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนรีเทลจะมุ่งขยายไปต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่มากขึ้น
ขณะเดียวกัน สำหรับเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นเชื่อว่าจะใช้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 4 เช่นเดียวกับกลุ่มคอมมูนิเคชั่น หรือใช้ไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท โดยกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์นั้น ในปี 2556 นี้จะให้ความสำคัญต่อช่องทางจำหน่ายเป็นหลัก ภายใต้งบการตลาดที่น้อยลง เนื่องจาก 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ บวกกับเจอคู่แข่งกลุ่มเฮาส์แบรนด์มากขึ้น