ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.ตั้งเป้าผลิตถ่านหินปีหน้าที่ 17 ล้านตันจากปีนี้ผลิตได้ 13 ล้านตัน เตรียมเพิกถอนหุ้น SAR ออกจากตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไตรมาส 1/56 พร้อมเร่งสำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตถ่านหิน 70 ล้านตันในปี 2563
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ ได้ลงทุนตามแผนงานที่ตั้งไว้เกือบ 90% ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีการลงทุนใหญ่สุด คือ การเพิ่มทุนจดทะเบียนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจถ่านหิน โดยล่าสุด ปตท.ถือหุ้นใน SAR คิดเป็นสัดส่วน 93% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ หากถือหุ้นเกิน 90% จะต้องเพิกถอนหุ้นออกจากตลาด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2556
จากการเข้าถือหุ้นใหญ่ใน SAR นี้ทำให้ ปตท.รับรู้รายได้จากธุรกิจถ่านหินเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้ โดยบริษัทดังกล่าวมีกำลังการผลิตถ่านหินในปีนี้อยู่ที่ 13 ล้านตัน และปีหน้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 17 ล้านตัน โดย ปตท.มีเป้าหมายการผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านตันในปี 2563 หรือคิดเทียบกับปริมาณน้ำมันดิบถึง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน โดย ปตท.มีแผนที่จะเสาะหาเหมืองถ่านหินเพิ่มเติม รวมทั้งพัฒนาเหมืองถ่านหินที่มี เช่น กัมพูชา มองโกเลีย และมาดากัสการ์
การตัดสินใจรุกธุรกิจถ่านหินของ ปตท.นี้ เนื่องจากเห็นว่าถ่านหินเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่มีปริมาณสำรองจำนวนมากเมื่อเทียบกับน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งในอนาคตถ่านหินอาจมีบทบาทมากยิ่งขึ้น แม้ว่าขณะนี้ไทยให้ความสำคัญพลังงานถ่านหินค่อนข้างน้อยก็ตาม โดย ปตท.ต้องการเป็นเจ้าของพลังงานอย่างครบวงจรทั้งถ่านหิน ก๊าซฯ และน้ำมันดิบ เพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ
นายไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในปีหน้านโยบายราคาพลังงานของรัฐถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของปตท. ซึ่งบริษัทเห็นว่าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ไทยถูกบังคับให้ต้องปรับราคาพลังงานตามตลาดโลก เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนได้เสรี รัฐไม่สามารถรับภาระอุดหนุนราคาพลังงานได้อีกต่อไป ดังนั้นควรจะทยอยปรับขึ้นดีกว่าปรับขึ้นทีเดียวในปี 2558
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2556 บริษัทมีเป้าหมายรักษาการทำกำไรไว้ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ในปีหน้าประเมินได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศหลายปัจจัย ได้แก่ การแก้ปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามผลกระทบ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าและจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของผู้นำในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะมีผลต่อนโยบายการเงินการคลังด้วยเช่นกัน
สำหรับงวด 9 เดือนแรก ปี 2555 ปตท.มีกำไรสุทธิ 8.19 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.86 หมื่นล้านบาท
แผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2556-2560) จะใช้วงเงินรวม 366,474 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติถึง 111,216 ล้านบาท คิดเป็น 30% ธุรกิจน้ำมันและการค้าระหว่างประเทศ 51,384 ล้านบาท คิดเป็น 14% แผนร่วมลงทุนและการลงทุนในบริษัทลูก คิดเป็น 191,947 ล้านบาท หรือ 53% สำนักงานใหญ่และอื่นๆ 11,927 ล้านบาท หรือ 3% โดยปีหน้าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 9.88 หมื่นล้านบาท