คมนาคมหารือผู้ประกอบการขนส่ง เตรียมเพิ่มเส้นทางเชื่อมเพื่อนบ้านเพิ่มอีก 2 จุด รับเปิด AEC เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า รถโดยสาร และท่องเที่ยว เอกชนวอนรัฐแก้ปัญหารถสินค้าและการเปลี่ยนถ่ายสินค้าชายแดน หวังรถสินค้าวิ่งทะลุถึงกันได้ทุกประเทศ
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเปิด AEC ที่ประชุมได้พิจารณาเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้า รถโดยสาร และเส้นทางการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเบื้องต้นจะเพิ่มจุดการขนส่งระหว่างไทย ลาว และเวียดนามให้มากยิ่งขึ้น เช่น จังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันไม่มีข้อตกลงเรื่องของการขนส่งที่จะต้องทำข้อตกลงร่วมกันให้สามารถดำเนินการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และจังหวัดบึงกาฬจะต้องมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างไทย-ลาว โดยทั้ง 2 จุดจะดำเนินการเพิ่มเติมจากเดิมที่มีจุดเชื่อมโยงการขนส่งอยู่แล้ว เช่น จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะเชื่อมไปยังเวียงจันทน์ และมุกดาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามข้อตกลที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งการเพิ่มเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งเพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ไปยังลาวได้ต่อเนื่อง และตลอดแนวเหนือใต้ของเวียดนาม คือ ไปถึงฮานอย ดานัง และโฮจิมินห์ ของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นเมืองหลักที่สำคัญ ส่วนการขนส่งสินค้าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการอำนวยความสะดวกการขนถ่ายสินค้าบริเวณชายแดนไปยังรถขนส่งสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีการอนุญาตนำรถจากลาวลากสินค้าที่อยู่ในรถบรรทุกจากไทยเข้าไปได้ และเมื่อเข้าเวียดนามก็สามารถนำรถจากเวียดนามลากต่อไปได้โดยไม่ต้องขนสินค้าลงจากรถ เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมกราคม 2556 ที่จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง
“แนวทางปฏิบัติร่วมกันทั้งกำหนดเส้นทางในการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว ส่วนแนวทางการเดินรถและวิธีการดำเนินงานต้องมีการกำหนดร่วมกันและจากที่ศึกษาไว้รัฐบาลจะเข้าไปดำเนินการบริเวณด่านชายแดนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าและผู้โดยสาร เนื่องจากถนนในไทยขับพวงมาลัยด้านขวา ส่วนลาว-เวียดนามขับพวงมาลัยซ้าย โดยหากเปิดเดินรถในเส้นทางดังกล่าวจะช่วยร่นระยะทางเดินทางจากปัจจุบันใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 9 ด่านมุกดาหาร ได้ถึง 200 กิโลเมตรซึ่งช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการเดินรถได้อย่างมาก เป็นการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสะพานมิตราภาพ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้างเพื่อข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาว คาดว่าจะออกแบบเสร็จปี 2556 หลังจากนั้นจะก่อสร้างได้ทันที