xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอกพีซีแอร์ “คมนาคม” เพิ่งตื่นจี้ บพ.ออกประกาศคุ้มครองผู้โดยสารสายการบินเช่าเหมาลำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” สั่ง “บพ.” เร่งออกประกาศกระทรวงคุ้มครองผู้โดยสารเช่าเหมาลำ คาด 1 เดือนประกาศได้ กำชับคุมเข้มบริการ 6 สายการบินเช่าเหมาลำหวั่นซ้ำรอยพีซีแอร์ ยังไม่ถอนใบอนุญาตหวั่นกระทบซื้อตั๋วล่วงหน้า ยื่นคำขาดหากเกิดอีกถอนใบอนุญาตทันที ไม่รับฟังเหตุมีปัญหากับเอเยนต์ ยันเป็นเรื่องที่สายการบินต้องจัดการให้ดี ด้าน บพ.เผยปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองผู้โดยสารเฉพาะเที่ยวบินในประเทศอย่างเดียว

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หารือร่วมกับนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินเรือน (บพ.) และตัวแทนสายการบินพีซีแอร์ ถึงกรณีที่สายการบินพีซีแอร์มีปัญหาและทำให้ผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยนายชัชชาติเปิดเผยว่า ได้มอบหมาย บพ.เร่งออกมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยยกร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำ (CHARTER FLIGHT) ส่วนระยะสั้น บพ.จะต้องเข้มงวดและดูแลการให้บริการของสายการบินเช่าเหมาลำมากขึ้น โดยให้เชิญผู้ประกอบการสายการบินเช่าเหมาลำที่มี 6 รายมากำชับมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก

ส่วนกรณีที่พีซีแอร์มีปัญหากับบริษัทตัวแทนจนทำให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบนั้น ในส่วนของกระทรวงหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพการให้บริการนั้น หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจะถูกพักใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการสั่งพักหรือถอนใบอนุญาตของพีซีแอร์ เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่พีซีแอร์แจ้งว่ามียอดขายตั๋วล่วงหน้าประมาณ 80% หรือประมาณ 170 ที่นั่ง/เที่ยวบินจากทั้งหมด 228 ที่นั่ง ส่วนผู้โดยสารที่ไปร้องที่กองปราบฯ นั้นไม่ใช่ผู้โดยสารที่ตกค้าง แต่เป็นผู้โดยสารที่จองตั๋วแล้วเดินทางไม่ได้ เพราะพีซีแอร์มีเครื่องบินลำเดียว เมื่อติดปัญหาก็ไม่สามารถหมุนเวียนการใช้เครื่องบินได้ตามตารางบินที่กำหนดไว้ โดยสามารถร้องเรียนแจ้งปัญหาการให้บริการได้ที่ โทร. 1356

“ที่ระบุว่ามีปัญหากับตัวแทนที่เกาหลีเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เป็นเรื่องของสายการบินที่จะต้องหาคู่ค้าที่ดี โดยขณะนี้พีซีแอร์แก้ปัญหาโดยส่งเจ้าหน้าที่ประจำที่สนามบิน เพื่อประสานงานโดยไม่ผ่านตัวแทน เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกหรือพักใบอนุญาตการบิน เพราะจะกระทบถึงผู้โดยสารพีซีแอร์ที่ขณะนี้มีตารางบินทุกวัน แต่ยืนยันว่าหากเกิดเหตุซ้ำอีกจะถูกพักใบอนุญาตยกเลิกเที่ยวบินทันที ตอนนี้ยังให้บริการได้ตามปกติ และหลังจากใบอนุญาตการบินหมดวันที่ 31 ตุลาคมนี้จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะต่อให้หรือไม่ โดยจะดูว่าพีซีแอร์มีความใส่ใจต่อการบริการผู้โดยสารแค่ไหน ซึ่งในวันที่ 24 ตุลาคมนี้เครื่องบินของพีซีแอร์จะใช้งานครบ 500 ชั่วโมง ต้องนำเข้าซ่อมบำรุงแบบ A-Check ทางพีซีต้องส่งต่อผู้โดยสารที่จองตั๋วในวันนั้นเดินทางไปกับสายการบินอื่น” นายชัชชาติกล่าว

จากการตรวจสอบ พีซีแอร์ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบิน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2558 โดยได้รับอนุญาตบินแบบประจำในเดือนตุลาคม เส้นทางดอนเมือง-อินชอน (เกาหลีใต้) วันละ 1 เที่ยว โดยใช้เครื่องบินแอร์บัส A310-222) โดยพีซีแอร์ได้ชี้แจงว่า การบินแบบเช่าเหมาลำไปประเทศเกาหลีใต้ต้องมีบริษัทตัวแทนของเกาหลีใต้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานสนามบิน เช่า ค่าน้ำมัน ค่าธรรมเนียมขึ้น-ลงและค่าจอดอากาศยาน Landing &Parking) ค่าครัวการบิน

ด้านนายวรเดชกล่าวว่า การยกร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารสายการบินเช่าเหมาลำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเสนอต่อ รมว.คมนาคมเพื่อลงนามในประกาศทันที โดยปัจจุบัน มีประกาศกระทรวงคมนาคมคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 เพียงฉบับเดียว ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ จะออกเป็น พ.ร.บ.เนื่องจากต้องปฏิบัติตามภาคีแห่งอนุสัญญามอนทรีอัล ซึ่งกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอที่ประชุมสภาต่อไป

โดยประกาศของสายการบินเช่าเหมาลำจะมีรายละเอียดและบทลงโทษใกล้เคียงกับสายการบินในประเทศแบบประจำ เช่น กรณีล่าช้าเกิน 2 ชม.แต่ไม่เกิน 3 ชม. สายการบินต้อจัดอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย, จัดอุปกรณ์ให้สามารถติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ล่าช้าเกิน 6 ชม. นอกจากจัดอาหารและเครื่องดื่มต้องจัดที่พักให้ผู้โดยสารด้วย เป็นต้น โดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำอาจจะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยที่ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากมีหลายประเภททั้งบินในประเทศ บินระหว่างประเทศ

สำหรับสายการบินไทยที่ทำการบินเช่าเหมาลำขณะนี้ 6 สาย คือ 1. บริษัท พีซี แอร์ จำกัด ปัจจุบันให้บริการเส้นทางดอนเมือง-อินชอน วันละ 1 เที่ยว ใช้เครื่องบินแอร์บัส A310-222 2. บริษัทเจ็ท เอเชีย แอร์เวย์ จำกัด 3.บริษัท ซิตี้ แอร์เวย์ จำกัด 4. บริษัท โซล่าร์ เอวิเอชั่น จำกัด 5. บริษัท ยู แอร์ไลน์ จำกัด 6. บริษัท สยาม เจนเนอรัล เอวิเอชั่น จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น