ร.ฟ.ท.เปิดเวรทีรับฟังความเห็นโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.8 กม. วงเงิน 5,562 ล้านบาท เตรียมสรุปเสนอครม.ขออนุมัติ คาดก่อสร้าง 3 ปี เชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้ากับสายสีน้ำเงิน และสายสีส้มที่สถานีจรัญฯ ให้การเดินทางด้วยระบบรางสมบูรณ์มากขึ้น
นายนริศ ตั้งระดมสิน วิศวกรอำนวยการ ศูนย์บริหารโครงการพิเศษ 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.ได้จัดสัมมนาครั้งที่ 2 งานสำรวจออกแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทางรวม 5.8 กิโลเมตร โดยได้มีการนำเสนอผลสรุปโครงการฯ ประกอบด้วย การออกแบบรายละเอียดสถานี รูปแบบการเดินรถ ตลอดจนผลการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์และความคุ้มค่าในการลงทุน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนตามแนวเส้นทางที่โครงการฯ สนใจเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 200 คน
โดยผลการศึกษาได้สรุปรูปแบบสถานี 3 สถานี และแนวเส้นทางโครงการ ประกอบด้วย สถานีที่ 1 สถานีธนบุรี-ศิริราช เป็นสถานีระดับพื้น ตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง รพ.ศิริราช ใกล้กับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถานีที่ 2 สถานีจรัญสนิทวงศ์ (ระยะห่างจากสถานีที่ 1 ประมาณ 1.3 กิโลเมตร) มีลักษณะเป็นสถานียกระดับ ตั้งอยู่บริเวณสวนบางขุนนนท์ บริเวณที่หยุดรถจรัญสนิทวงศ์เดิม และสถานีที่ 3 สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน (ระยะห่างจากสถานีที่ 2 ประมาณ 2.7 กิโลเมตร) ลักษณะเป็นสถานีระดับพื้น ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างที่ จอดรถของสำนักงานเขตตลิ่งชัน แล้วเส้นทางจึงกลับลงสู่ระดับพื้น ผ่านถนนฉิมพลีมาบรรจบกับสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีตลิ่งชัน (ระยะห่างจากสถานีตลาดน้ำตลิ่งชันประมาณ 1.8 กิโลเมตร) โดยเส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชมีระยะทางรวม 5.8 กิโลเมตร
ส่วนแบบสถานีทั้งภายนอกและภายในนั้น นอกจากคำนึงถึงความสวยงามแล้วยังยึดหลักการออกแบบให้เป็น Universal Design เพื่อให้รองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้พิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการเดินรถให้เป็นรถไฟรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ความเร็วสูงสุดได้ถึง 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ (ATO) ติดตั้งระบบ Automatic Train Protection (ATP) บนหัวรถจักรดีเซลเพื่อให้รถไฟทั้งสองระบบใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทั้งยังมีเสียงเบาและเกิดความสั่นสะเทือนต่ำ จึงส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณโดยรอบทางรถไฟน้อยลง
ส่วนผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ มีค่าชี้วัดอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 17.14% (มาตรฐาน 12%) ด้วยเหตุนี้จึงมีความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ มีค่าชี้วัดอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 17.14% (มาตรฐาน 12%) ด้วยเหตุนี้จึงมีความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ และยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มีค่าก่อสร้างประมาณ 5,562 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการรถไฟทั้ง 3 สถานีในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 29,400 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่แออัดบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สำหรับโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชนั้นจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน และสายสีส้มที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สมบูรณ์ ช่วยให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น โดย ร.ฟ.ท.จะนำผลจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนมาพิจารณา ก่อนนำผลสรุปดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าภายหลังกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี