xs
xsm
sm
md
lg

กรมขนส่งฯ งัดมาตรการถอดใบอนุญาตจัดการรถตีนผีทำผิดซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
กรมการขนส่งทางบกใช้มาตรการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะปราบพวกผิดซ้ำ ชี้เป็นสาเหตุหลักอุบัติเหตุ เผยสถิติม.ค.-ส.ค. 55 เกิดกว่า 176 ครั้ง เสียชีวิตถึง 181 ราย พร้อมเตือนรถทัวร์คุมเข้มพนักงานขับรถไม่เกิน 4 ชม. ฝ่าฝืนปรับ โทษปรับสูงสุด

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกจะนำมาตรการพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตมาใช้กับผู้กระทำความผิดซ้ำกรณีขับรถเร็ว ส่วนกรณีขับรถประมาทจนทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที มาดำเนินการเพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักในความปลอดภัย และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และทำให้เกิดความปลอดภัยและลดปัญหาการร้องเรียนจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของรถโดยสารสาธารณะระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2555 รวมทั้งสิ้น 176 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 181 ราย และบาดเจ็บ 1,857 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทในการขับขี่ของพนักงานขับรถ เช่น การขับรถเร็ว ขับตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด และหลับใน

ในขณะที่สถิติการร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสาร 1584 พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคมมีประชาชนร้องเรียนรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (รถโดยสารสาธารณะ) จำนวน 6,222 ราย ความผิดส่วนใหญ่คือขับรถประมาทหวาดเสียว

ทั้งนี้ การนำมาตรการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถมาใช้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคือ กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำความผิดฐานขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโทษดังนี้ กระทำความผิดครั้งแรก มีโทษปรับ 5,000 บาท หากกระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในข้อหาเดิมภายใน 3 เดือนนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรก ให้พักใช้ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถเป็นเวลา 30 วัน และหากกระทำความผิดเป็นครั้งที่ 3 ภายใน 6 เดือน นับแต่กระทำความผิดครั้งแรก จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

สำหรับกรณีผู้ที่ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นจำนวนมาก จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กองตรวจการขนส่งทางบก และสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการตรวจเข้มอย่างจริงจัง รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนหากพบเห็นรถโดยสารสาธารณะขับรถเร็วและไม่ปลอดภัย แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม สถิติจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2555 พบว่า มีรถโดยสารทั้งสิ้นจำนวน 136,956 คัน เป็นรถโดยสารประจำทางจำนวน 89,031 คัน รถโดยสารไม่ประจำทางจำนวน 36,709 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคลจำนวน 11,216 คัน ทั้งนี้ เฉพาะปี 2555 ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2555 พบว่ามีรถโดยสารที่จดทะเบียนใหม่จำนวน 7,652 คัน เป็นรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,638 คัน รถโดยสารไม่ประจำทางจำนวน 3,563 คัน และรถโดยสาร ส่วนบุคคลจำนวน 451 คัน เนื่องจากความนิยมใช้บริการของประชาชน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หรือวันหยุด

โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น พนักงานขับรถขาดความชำนาญในเส้นทาง ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียเพราะขับขี่คนเดียวเป็นเวลานานโดยไม่มีพนักงานสับเปลี่ยน หรือเกิดจากความไม่พร้อมของสภาพรถโดยสาร และเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาพถนนไม่สมบูรณ์ ทัศนวิสัยไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานบริการรถโดยสารไม่ประจำทางให้เกิดความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางจึงมีมติให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานบริการของรถโดยสารไม่ประจำทาง โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถไม่ให้ขับรถเร็วเกินกำหนด

และต้องควบคุมพฤติกรรมผู้ประจำรถไม่ให้กระทำการลักทรัพย์ หรือทำร้ายร่างกายผู้โดยสารในระหว่างทำการขนส่ง หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย โดยพนักงานขับรถจะขับรถติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงจึงจะสามารถขับรถต่อไปได้ ฝ่าฝืนโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น