xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC ลั่นสิ้นปีนี้สรุปตั้ง รง.PLA ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนนต์ สิริแสงทักษิณ
พีทีที โกลบอลฯ ดึง Nature Works ตั้งโรงงานผลิต PLA แห่งที่ 2 ในไทย ใช้เงินลงทุน 150-300 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดสรุปปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 56 เผยจับมือ 5 สถาบันของรัฐร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากพอลิเมอร์ที่ดูดซึมได้ชนิดPLGA ที่ย่อยสลายได้ ทดแทนการนำเข้า คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการวิจัยและพัฒนาก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ ดันไทยเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพ

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯกับพันธมิตร คือ NatureWorks LLC จากสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการตัดสินใจเพื่อตั้งโรงง านผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ชนิด Poly Lactic Acid (PLA) แห่งที่ 2 ในประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิต 70,000-140,000 ตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 150-300 ล้านเหรียญสหรัฐ เน้นทำตลาดในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 2556 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี

โดยโรงงานผลิต PLA นี้จะใช้วัตถุดิบต่อยอดจากพืชผลทางการเกษตร เช่น น้ำตาลจากอ้อย หรือแป้งจากมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ และความเชี่ยวชาญการวิจัย ขณะนี้เดียวกันก็มองการนำพลาสติกชีวภาพดังกล่าวไปใช้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทดแทนการนำเข้า ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผู้พลาสติกชีวภาพในอาเซียนและภูมิภาคนี้ เนื่องจากในอนาคตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทำจากพลาสติกชีวภาพจะเข้ามาทดแทนเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นโลหะ

“โครงการลงทุนผลิต PLA ในไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในไทย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลในหลายประเทศต่างช่วงชิงความได้เปรียบเพื่อดึงโครงการลงทุนดังกล่าวไปยังประเทศตนเอง ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนเพื่อให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจากการความต้องการใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพในช่วงแรกจะค่อนข้างน้อย”

ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมทุนกับ NatureWorks ถือหุ้นอยู่ 50% โดยบริษัทดังกล่าวโรงงานผลิต PLA ขนาดกำลังการผลิตปีละ 1.4 แสนตันตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ

นายอนนต์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯได้ทำแผนการลงทุน 10 ปีข้างหน้าเพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ แต่กรอบเม็ดเงินลงทุนนั้นจะกำหนดแค่ 5 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้า โดยยึดธุรกิจหลักในไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ ต่อยอดไปยังพลาสติกเกรดพิเศษต่างๆ รวมทั้งขยายสู่ธุรกิจ Green โดยการลงทุนใหม่เหล่านี้จะทำให้บริษัทฯมีอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 0.7 เท่า

สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ว่า ค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2555 เนื่องจากราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่สเปรดปิโตรเคมีในครึ่งปีหลังยังทรงตัวอยู่ แต่ปีหน้าบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโครงการส่วนขยาย MEG ขนาด 9.6 หมื่นตันเต็มปี ซึ่งปัจจุบันราคา MEG ค่อนข้างดีอยู่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐ/ตัน

วานนี้ (28 ก.ย.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และกระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากโพลิเมอร์ที่ดูดซึมได้ชนิด Poly (Lactic-co-Glycolic) acid (PLGA) ที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ISO 13485 สู่การใช้งานจริง คาดว่าจะใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนา 2ปีหลังจากนั้นจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือครั้งแรกของไทยระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากพลาสติกชีวภาพครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยครอบคลุมการพัฒนาพลาสติกชีวภาพที่ดูดซึมได้ไปพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานใช้ได้จริงโดยแพทย์และทันตแพทย์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและราคาถูกลง เช่น อุปกรณ์ยึดกระดูก หรือกะโหลกศีรษะ ไหมละลาย ฯลฯ เมื่อนำมาใช้ในร่างกายมนุษย์แล้วย่อยสลาย โดยไม่ต้องผ่าตัดเพื่อนำออกมา ซึ่งประเทศไทยใช้อุปกรณ์เหล่านี้ปีละ 3 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท

ตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างดี คือ โครงการรากฟันเทียม ที่กระทรวงวิทย์ฯได้นำผลการวิจัยและพัฒนามาต่อยอดจนภาคอุตสาหกรรมสามารถผลิตและจำหน่ายในประเทศได้ โดยราคารากฟันเทียมไทยชุดละ 2,000 บาทเทียบกับต่างประเทศชุดละ 20,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น