สนามบินดอนเมืองซ้อมแผนฉุกเฉินเหตุอุทกภัยเต็มรูปแบบ ร่วมกับกองทัพอากาศ สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำลองสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มแจ้งเตือนภัย การแก้ไขกรณีน้ำหลากเข้าสนามบิน และในสถานการณ์อื่นๆ “อนิรุทธิ์” เผยซ้กซ้อมความเข้าใจทุกหน่วยเพื่อแก้ไขได้รวดเร็วเมื่อเกิดเหตุ ยันผู้โดยสารมั่นใจได้
วันนี้ (27 ก.ย.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเหตุอุทกภัย ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เต็มรูปแบบ (Full Scale Emergency Exercise) โดยจำลองสถานการณ์เริ่มตั้งแต่การได้รับการประกาศแจ้งเตือนภัย การจัดตั้งศูนย์ป้องกันอุทกภัยร่วมเขตท่าอากาศยานดอนเมือง (ศปอร.) การวางแผนป้องกัน การเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน การตรวจพบรอยแตกร้าวเมื่อน้ำหลากมายังท่าอากาศยานและหากมีน้ำไหลเข้าในพื้นที่ ต้องมีการดำเนินการซ่อมแซมแนวกั้นน้ำ ณ พื้นที่เกิดเหตุได้สำเร็จ โดยมีหน่วยงานของท่าอากาศยานดอนเมือง กองทัพอากาศ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายการบิน และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมฝึกซ้อม เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพและความเหมาะสมของแผนฯ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินของท่าอากาศยานได้ทันท่วงที
ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เปิดเผยว่า การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบในครั้งนี้เป็นการฝึกซ้อมร่วมทุกหน่วยภายใต้การจำลองสถานการณ์เหมือนจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ทดม.ได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีสถานการณ์อุทกภัย (Flooding Situation) ทั้งยังเป็นการทดสอบการติดต่อสื่อสาร การแจ้งเหตุ ขั้นตอนการปฏิบัติของทุกหน่วย การประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยปฏิบัติการหลักและหน่วยสนับสนุนต่างๆ และยังเป็นการประเมินผลการปฏิบัติ และตรวจสอบข้อบกพร่องของแผนฯ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น
ทั้งนี้ การฝึกซ้อมดังกล่าวจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่ระบุให้แต่ละท่าอากาศยานควรจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (Full Scale Emergency Exercise) อย่างน้อย 1 ครั้งทุก 2 ปี สลับกับการฝึกซ้อมบางส่วน (Partial Emergency Exercise)
“การฝึกซ้อมในครั้งนี้ได้ดำเนินการให้มีความสมจริงมากที่สุด และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติรองรับเหตุฉุกเฉินได้ในสถานการณ์จริง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานอีกด้วย” ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์กล่าว