กรมโรงงานเตรียมชะลอออกใบอนุญาตประกอบกิจการแปรรูปยางรถยนต์เก่ามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมเล็งกิจการแยกและสกัดโลหะเป็นคิวต่อไป หลังพบกากของเสียจากกิจการดังกล่าวมีมากเกินกว่าขีดความสามารถในการกำจัด
นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการป้องกันและกำกับดูแล รวมถึงการส่งเสริมฟื้นฟูด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยเตรียมที่จะพิจารณาชะลอการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแปรรูปยางรถยนต์เก่ามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และมีแนวโน้มกิจการประเภทการแยกและสกัดโลหะอาจจะเป็นลำดับต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสาเหตุหลักมาจากขีดความสามารถในการกำจัดกากของเสียจากกิจการดังกล่าวต่ำกว่าปริมาณกากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“การนำยางเก่ามาผ่านกระบวนการนึ่งเพื่อเอาน้ำมันปัจจุบันมีโรงงานอยู่ประมาณ 20 แห่งแต่มีปัญหาเรื่องการนำกากที่เหลือไปบำบัดนั้น ขณะนี้มีเพียงโรงปูนซีเมนต์นครหลวงที่รับไปกำจัดเป็นหลัก ซึ่งพบว่ามีขีดความสามารถที่จำกัด ประกอบกับกากยางที่ผ่านกระบวนการสกัดน้ำมันจะฟุ้งกระจายมีปัญหาต่อสุขภาพพนักงานโรงปูน ดังนั้นจึงจะขอบริหารกากที่มีอยู่ขณะนี้ให้ดีก่อน โดยจะขอความร่วมมือกับโรงปูนซีเมนต์ที่มีอยู่ 10 กว่าแห่งทำอย่างไรให้มารับการบำบัดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีของการสกัดโลหะก็เช่นกัน” นายพงษ์เทพกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางการเร่งบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป้าหมาย 20 ประเภทซึ่งมีโรงงานประมาณ 3,100 แห่งทั่วประเทศที่จะให้เข้าสู่ระบบการจัดการ 80% ภายในสิ้นปีนี้ โดยได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำแผนมาเสนอว่าจะบริหารจัดการอย่างไร รวมถึงจะเสนอให้อำนาจจังหวัดในการกำกับดูแลที่จะสามารถสั่งระงับการประกอบกิจการชั่วคราวได้เมื่อเห็นว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบของกรมฯ ซึ่งขณะนี้พบว่าอำนาจในการสั่งการยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในส่วนของกากอันตราย กรอ.ได้ออกประกาศบังคับให้รถบรรทุกขยะอันตรายต้องติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อติดตามการออกนอกเส้นทางแล้วตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้การติดตามมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งภาพรวมรถขนกากอุตสาหกรรมทั้งระบบที่มีการจดทะเบียนมีทั้งสิ้น 1,800 ราย โดยส่วนใหญ่เอกชนได้ติดตั้งแล้วแต่ระบบที่ผ่านมาไม่ได้ไลน์ตรงมายังกรมฯ ซึ่งจากนี้จะเป็นการออนไลน์ที่เชื่อมถึงกันหมด
สำหรับมาตรการส่งเสริมและการฟื้นฟูนั้น ได้มีการหารือถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ……..ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนที่อาจจะเก็บเงินจากภาคเอกชนเข้ามาสมทบ ซึ่งสามารถนำเงินดังกล่าวมาจัดการ เช่นกรณีหลุมฝังกลบขนาดเล็กที่ถูกทิ้งแต่ยังมีศักยภาพที่ควรจะดูแลต่อไป เป็นต้น